'ดีอีเอส' นำทีม 'NT-หัวเว่ย' หนุนระบบสื่อสาร 'รพ.สนาม' บางขุนเทียน

'ดีอีเอส' นำทีม 'NT-หัวเว่ย' หนุนระบบสื่อสาร 'รพ.สนาม' บางขุนเทียน

รมว.ดีอีเอส นำทีม NT และ หัวเว่ย ลงพื้นที่มอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมพร้อมระบบเทเลเมดิซีน สนับสนุนภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของโรงพยาบาลสนามบางขุนเทียนให้มีประสิทธิภาพ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลvเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมส่งมอบระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบ เทเลเมดิซีน และถุงยังชีพเพื่อมอบให้ผู้ป่วยโควิด-19 แก่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โดยมี นายศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้ส่งมอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบเทเลเมดิซีนให้แก่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน พร้อมกับตรวจสอบคุณภาพสัญญาณสื่อสารในจุดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ต ฟรีไวไฟ รองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโควิดสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงดีอีเอส ประสานงานไปยัง NT ให้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi ระบบโทรศัพท์ IP Phone รวมถึงระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับโรงพยาบาลสนามทุกแห่งที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหัวเว่ยมอบระบบเทเลเมดิซีนเพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนให้สะดวกและรวดเร็ว

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า การส่งมอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้แก่ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งใช้เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิดในครั้งนี้ NT ได้เข้าติดตั้งระบบ Internet WiFi และระบบ CCTV ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 4 เฟส สามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนการใช้ติดต่อสื่อสารของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการให้บริการกับโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว NT ยังได้เข้าติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi โทรศัพท์ IP Phone รวมถึงกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้แก่โรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม 2 จังหวัดเชียงราย (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS) โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยพะเยา โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลสนามวชิรพยาบาล โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 1 บางบอน (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา)

โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

161985563627

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางการแพทย์ และในฐานะที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นพาร์ทเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทย หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สถานพยาบาล และทีมบุคลาการทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

โดยได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าติดตั้งระบบโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสาร เช่น นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์ ระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสารในด้านการประสานงานในช่วงเวลาสำคัญผ่าน โครงข่ายไร้สายแบบบรอดแบนด์แบบเฉพาะ (Private network) ที่สามารถทำการสื่อสารผ่าน ภาพ เสียง วีดีโอ และแสดงพิกัด (Location service) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผ่านโครงข่ายวิทยุไร้สาย eLTE ซึ่งสามารถทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายของผู้ให้บริการ (Public network) หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้งานโครงข่าย (traffic congestion) ของประชาชน

นอกจากนี้ ยังติดตั้ง ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) เพื่อส่งเสริมการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที และลดภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ นวัตกรรมเหล่านี้ทำงานบนเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ ช่วยป้องกันให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลสนาม และช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของไทยดีขึ้น

นายเติ้ง กล่าวต่อว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการช่วยรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยด้วยนวัตกรรมชั้นนำต่าง ๆ ของบริษัท โดยหัวเว่ยได้มอบหน้ากากอนามัยจำนวน 500,000 ชิ้น เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ในไทย ส่งมอบระบบวิดีโอ เทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เพื่อการแพทย์ (Huawei Telemedicine Video Conferencing Solution) ให้กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลในประเทศไทย รวม 7 ชุด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรการแพทย์

รวมทั้งส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) โควิด-19 ซึ่งทำงานบนเทคโนโลยี Cloud และ 5G ของหัวเว่ยให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในเวลานั้นอีกด้วย