หุ้น 101 | 'P/E Ratio' คืออะไร ทำไมคน 'ลงทุนหุ้น' ต้องดู?

หุ้น 101 | 'P/E Ratio' คืออะไร ทำไมคน 'ลงทุนหุ้น' ต้องดู?

ทำความรู้จัก "P/E Ratio" หรือ ที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า "PE" (พีอี) อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ผู้ "ลงทุนหุ้น " ต้องรู้จัก และพิจารณาซื้อขาย

เวลาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนหุ้น หรือฟังนักวิเคราะห์หุ้น คงเคยได้ยินคำว่า "P/E" หรือ "P/E Ratio" อยู่บ่อยๆ แล้ว P/E Ratio มีความเกี่ยวข้องกับหุ้นในตลาดอย่างไร ทำไมต้องสนใจด้วย 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปหาคำตอบ พร้อมทำความรู้จัก P/E และวิธีคำนวณเบื้องต้น ที่อาจช่วยให้ตัดสินใจลงทุนหุ้นที่กำลังเล็งได้ง่ายขึ้น ซึ่งการประเมินราคาหุ้นสูงไม่สูง หนึ่งในอัตราที่นำมาพิจารณาคือ "P/E Ratio" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า PE (พีอี)

161975712541

  

P/E Ratio ย่อมาจากคำว่า "Price to Earning Ratio" หรือ "ราคาตลาดต่กำไรสุทธิต่อหุ้น" ซึ่งหมายความว่าเป็นจะเป็นตัวเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นสามัญที่บริษัทนั้นทำได้ในรอบระยะเวลา 12 เดือน หรือในรอบ 1 ปีล่าสุด ว่าเป็นกี่เท่าของกันและกัน 

    

  •  รู้อัตราราคาต่อกำไรสุทธิ  (P/E Ratio) ไปทำไม? 

- เพื่อให้เห็นว่าผู้ลงทุนยินดีจะลงทุน หรือจ่ายเงินซื้อหุ้นนั้นเป็นกี่เท่าของของกำไรสุทธิทุก 1 บาท

อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนยินดีจะลงทุน หรือจ่ายเงินซื้อหุ้นนั้นเป็นกี่เท่าของทุกๆ 1 บาท ของกำไรสุทธิของบริษัทนั้นๆ 

ตัวอย่าง หุ้นของบริษัท A มีราคาตลาดเท่ากับ 23 บาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 2.27 บาท P/E Ratio จะเท่ากับ 10.1 เท่า (23/2.27)

ค่า P/E Ratio ที่คำนวณได้จะนำไปประเมินเปรียบเทียบกับค่า P/E Ratio เฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเป็นค่าอ้างอิง บริษัทที่มีค่า P/E Ratio สูง แสดงว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่ากิจการที่มี P/E Ratio ต่ำ

สามารถดูข้อมูล "สรุปสถิติสำคัญของตลาดหลักทรัพย์" ต่างๆ คลิกที่นี่

- ช่วยให้ "นักลงทุน" สามารถประมาณการ "จุดคุ้มทุน" ในการลงทุนหุ้นได้

หรือในอีกกรณีหนึ่งก็คือ ค่า P/E ช่วยให้ "นักลงทุน" สามารถประมาณการ "จุดคุ้มทุน" ในการลงทุนหุ้นได้

เช่น หุ้น B ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ดังนั้น P/E เท่ากับ 10 เท่า หรือพูดง่ายๆ คือ เราจะได้ทุน 10 บาทคืนเมื่อถือหุ้น B ครบ 10 ปี นี่คือแนวคิดเบื้องต้นที่ทำให้คิดได้ว่าควรซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำๆ และขายหุ้นที่ P/E สูงออกไป ทว่าไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป สำหรับบางกรณี หุ้นที่ P/E สูงๆ ก็อาจจะยังน่าลงทุน เช่น 2 กรณี ต่อไปนี้

- หุ้นที่มีแนวโน้มของกำไรเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Growth Stock หุ้นเหล่านี้จะมี P/E สูง แต่ถ้าต้องการดูว่าสูงจนแพงเกิน ราคาหรือไม่ ต้องดูที่ P/E ไม่เกินการ ขยายตัวของกำไร เช่น ถ้า คาดว่าหุ้นจะ มีกำไรโต 15% ต่อปี ก็ไม่ควรมี P/E เกิน 15 เท่า หรือนำ P/E หารด้วย Growth ถ้าได้ต่ำกว่า 1 มากเท่าไร ก็ยิ่งดี

- หุ้นที่มีสภาพคล่องดี มักมี P/E สูงกว่า พวกหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
(Market Cap) ใหญ่ๆ และซื้อขายปริมาณมากในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม การประเมินราคาความเหมาะสมของราคาหุ้นแต่ละตัวนั้น ไม่ใช่แค่ใช้ P/E Ratio เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็น

- Price to Book Value : P/BV ราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น

- Dividend Yield อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล

- Turnover Ratio อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย

- Net Profit Margin อัตราส่วนกำไรสุทธิ

- ROA หรือ Return on Asset อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์

- ROE หรือ Return on Equity อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น

ฯลฯ

เพราะฉะนั้น หุ้นที่ราคาเกือบร้อยอาจไม่ได้แปลว่าแพงก็ได้ หรือหุ้นราคาหลักหน่วย หรือหลักสิบ อาจไม่ได้แปลว่าถูกเสมอไป ขึ้นอยู่กับ P/E และอัตราอื่นๆ ประกอบ ไปจนถึงความพึงพอใจของผู้ลงทุนที่ยินดีลงทุนในหุ้นนั้นๆ ด้วย

แล้วหุ้นที่คุณกำลังเล็ง หรือกำลังถืออยู่ล่ะ P/E เท่าไร และมีแนวโน้มไปทางไหน?

ที่มา: ตลท. บล.บัวหลวง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย set