แรงงานอพยพเอเชียอ่วมประเทศปลายทางเมินว่าจ้าง

แรงงานอพยพเอเชียอ่วมประเทศปลายทางเมินว่าจ้าง

แรงงานอพยพเอเชียอ่วมประเทศปลายทางเมินว่าจ้าง โดยประเทศในเอเชียอย่างจีนและอินเดียเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ขณะผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านสิทธิของแรงงานอพยพทั่วโลก

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ออกรายงานล่าสุดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานอพยพในภูมิภาคเอเชีย โดยเตือนว่าความต้องการแรงงานอพยพจากเอเชียในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่เบาบางลงจะฟื้นตัวอย่างไม่ราบรื่นนักและจะต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศปลายทางเป็นส่วนใหญ่

ผลศึกษาร่วมของเอดีบี องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้นในประเทศปลายทางที่สำคัญสำหรับแรงงานอพยพจากเอเชีย รวมทั้งประเทศต้นทาง ยังคงอ่อนแอตลอดปี 2564 โดยเฉพาะความต้องการแรงงานอพยพที่ลดลงจากชาติสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย(จีซีซี) ที่ถือเป็นประเทศผู้ว่าจ้างแรงงานอพยพหลักในภูมิภาค รวมทั้งประเทศอื่นๆอย่างไทยและเวียดนามที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตลาดงานหลักของแรงงานกลุ่มนี้

มีประเทศในเอเชียไม่กี่ประเทศ อาทิ จีนและอินเดียที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านสิทธิของแรงงานอพยพ

ผลศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนแก่แรงงานอพยพทั่วโลก เพราะประเทศต่างๆออกมาตรการคุมเข้มและจำกัดผู้เดินทางจากที่อื่นเข้าประเทศ ขณะที่การล็อกดาวน์ของหลายประเทศทำให้เศรษฐกิจชลอตัว ประเทศปลายทางบางแห่งเริ่มเห็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วของจำนวนแรงงานต่างชาติ เช่นกรณีของญี่ปุ่น จำนวนชาวต่างชาติที่เข้าไปพำนักในญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่าทำงานปรับตัวลง 99.5% จากเดือนเม.ย.-ส.ค.ในปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในซาอุดิอาระเบีย การออกวีซาทำงานให้แก่ชาวต่างชาติลดลง 91% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2562

ส่วนในกลุ่มประเทศต้นกำเนิดอย่างฟิลิปปินส์ ที่ถือเป็นประเทศต้นตอใหญ่สุดเพียงประเทศเดียว ที่มีการเคลื่อนไหวของแรงงานอพยพปีต่อปีมากที่สุด สัดส่วนของแรงงานอพยพก็ลดลง 60% รวมถึงการจ้างงานใหม่ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค.ปี2563 ก็ลดลงด้วย ขณะที่การไหลออกของแรงงานอพยพจากบังกลาเทศ ประเทศต้นกำเนิดแรงงานอพยพใหญ่สุดอันดับสองชะงักงันไปในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แม้ว่าในเดือนธ.ค.จำนวนแรงงานอพยพจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้วก็ตาม

ปัจจุบัน ชาวฟิลิปปินส์จำนวนกว่า 2 ล้านคนทำงานและอาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง ในจำนวนนี้ แยกเป็นอยู่ในเลบานอนจำนวนกว่า 30,000 คน และอยู่ในอิหร่านจำนวนกว่า 1,000 คน อีกทั้งยังมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฏหมายในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ คือธุรกิจการบริการ และการบริโภคในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว การเติบโตในภาคบริการของฟิลิปปินส์่มีสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี ซึ่งสามารถดูดซับแรงงานได้กว่า 50%

ธุรกิจในภาคบริการที่เป็นดาวเด่นของฟิลิปปินส์ คือกิจการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจคอลล์เซนเตอร์ ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีละ 15% อานิสงส์จากข้อได้เปรียบของคนฟิลิปปินส์ด้านภาษาอังกฤษ ทำให้แรงงานฟิลิปปินส์เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น พยาบาล และครูสอนภาษา

“ไนลิม บารูอาห์” จากไอแอลโอ บอกว่า แรงงานอพยพจำนวนมากถูกบังคับให้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตัวเองเร็วกว่ากำหนดเพราะตกงาน หรือไม่ก็กลัวการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ในประเทศที่เข้าไปทำงาน ซึ่งนับจนถึงเดือนเม.ย.ปี 2564 แรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในต่างประเทศกว่า5แสนคนได้เดินทางกลับประเทศแล้ว

“ฌอง-คริสตอฟ ดูมอนท์” หัวหน้าแผนกแรงงานอพยพระหว่างประเทศของโออีซีดี ตั้งข้อสังเกตุว่า “การระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมาก เพราะฉะนั้นขอบข่ายและธรรมชาติของสิทธิแรงงานต้องเปลี่ยนไป และเราจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นเพราะการระบาดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอัตโนมัติและระบบดิจิทัล”

นอกจากนี้ ดูมอนท์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตัวแปรอื่นๆที่รวมถึง การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง เบร็กซิท และการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้อพยพในสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อแรงงานอพยพในเอเชีย

ผลศึกษาชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า ความปั่นป่วนที่เกิดกับแรงงานอพยพ ทำให้เงินส่งกลับประเทศของบรรดาแรงงานเหล่านี้พลอยลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย โดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)คาดการณ์ในเดือนต.ค.ปี 2563 ว่า เงินส่งกลับประเทศที่จะไหลเข้าไปยังประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางถึงต่ำจะลดลงประมาณ 7% ในปี 2563 ส่วนในปี 2564 จะลดลงประมาณ 7.5%

ในรายงานฉบับใหม่ เอดีบี ประเมินว่าเงินส่งกลับประเทศโดยรวมที่ส่งไปยังเอเชียจะลดลงไปอยู่ที่ 54,300 ล้านดอลลาร์ในปี2563 พร้อมคาดว่า ประเทศต่างๆอาจใช้เวลานานกว่า 1ปีกว่าจะควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้และเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

ภูมิภาคเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19หนักที่สุด จากการคำนวณของเอดีบี และเงินส่งกลับประเทศของกลุ่มแรงงานอพยพในประเทศเอเชียใต้จะหายไป 28,600 ล้านดอลลาร์ เมื่อประเมินจากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุด้วยว่า มีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศ โดยเงินส่งกลับประเทศจะไหลเข้าไปในสองประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้คือ ปากีสถานและบังกลาเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2563