ตั้ง 'ทีมไทยแลนด์' หนุนฉีดวัคซีน เป้า 50 ล้านคน '100 ล้านโดส' ภายในปีนี้

ตั้ง 'ทีมไทยแลนด์' หนุนฉีดวัคซีน เป้า 50 ล้านคน '100 ล้านโดส' ภายในปีนี้

“ประยุทธ์” ตั้ง 4 ทีมไทยแลนด์ รัฐ-เอกชนเร่งฉีดวัคซีน 50 ล้านคน 100 ล้านโดส “เอกชน” ชี้หนุนภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนเปิดประเทศต้นปี 65 ตั้ง “สุพัฒนพงษ์” แม่งานประสานเอกชน สศช. สมช. สาธารณสุข

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือกับภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการจัดการวัคซีนของไทย โดยหารือร่วมกับหอการค้าไทยที่สรุปข้อเสนอจาก CEO 45 บริษัท ก่อนที่จะหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะทำงานเคียงคู่ไปกับภาคเอกชน โดยจะมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งทีมประสานงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมคู่ขนานร่วมกับทีมภาคเอกชนทั้ง 4 ทีม รวมถึงการมอบให้องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาแนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และ กกร.ได้หารือการบริหารจัดการวัคซีนที่จะรับมอบจำนวนมากในเดือน มิ.ย.2564 โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนและมอบนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นแม่งานเรื่องนี้ทำงานร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการ สศช. และภาคเอกชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการประสานงานระหว่างรัฐกับเอกชนจะเริ่มได้ทันที

สำหรับข้อเสนอของ กกร. 4 เรื่อง ที่นายกรัฐมนตรีรับไว้ในการบริหารจัดการและการกระจายวัคซีน ได้แก่ 

1.การกระจายวัคซีนด้วยใช้กลไกภาครัฐและภาคเอกชนให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยในต่างจังหวัดจะผ่านกลไก กรอ.จังหวัด กลุ่มจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเร่งรัดการจัดสถานที่และเตรียมอุปกรณ์ บุคลากร ให้พร้อมมากที่สุดเพื่อรองรับกระจายวัคซีนให้ได้เร็ว

2.การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัคซีนทั้งการจัดหาและความพร้อมการฉีด โดยภาคเอกชนจะช่วยประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นการฉีดวัคซีนมากขึ้น 

3.ระบบสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับวัคซีน โดยขณะนี้ใช้การลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนระบบการลงทะเบียนและการให้ข้อมูลหลังการฉีดวัคซีน โดยการสื่อสารต้องให้เป็นในรูปแบบ Single Message เพื่อให้การสื่อสารเป็นเอกภาพ

ทั้งนี้ ได้หารือการลงทะเบียนและติดตามการฉีดวัคซีนของ 5 กลุ่ม ที่จัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีน คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐและภาคเอกชน 2.เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3.ประชาชนทีมีโรคประจำตัว 4.ประชาชนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 5.ประชาชนในพื้นที่ระบาด

โดยการติดตามให้ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ส่วนการลงทะเบียนให้ผ่านระบบที่ธนาคารกรุงไทยวางไว้ และให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลการลงทะเบียนต่อ 

4.เรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รับไปพิจารณาต่อ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะเกิดขึ้นทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติในไทย ซึ่งหากฉีดได้ 50 ล้านคน ในสิ้นปี 2564 เท่ากับฉีดได้ 70% ของประชากร จะช่วยสนับสนุนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบต้นปี 2565 

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเป็น 4 ทีม ถือเป็น “ทีมไทยแลนด์” วัคซีนที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และจะเปิดประเทศต้นปีหน้าได้ แต่ภูเก็ตโมเดลหรือภูเก็ตแซนด์บ็อกในเดือน ก.ค.ก็จะทำได้ก่อนไม่พลาดในส่วนนี้ ภาคเอกชนพร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุนทุกอย่าง

โดยหอการค้าไทยรายงานสนับสนุนของภาคเอกชนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรียินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน และสั่งการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ คือ 

1.TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนระยะแรกเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกรุงเทพมหานคร 66 แห่ง ผ่านการคัดเลือก 14 แห่ง แบ่งเป็น 5 โซน คือ กรุงเทพฯ เหนือ 2 จุด กรุงเทพฯ ใต้ 4 จุด กรุงเทพฯ ตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งมีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน รองรับประชาชนได้ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร

ระยะถัดไปจะทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปตามชุมชนและบริษัท เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนหลายแห่งและจะนำต้นแบบของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2.TEAM Communication ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนฉีดวัคซีน ซึ่งเน้นความสำคัญการฉีดวัคซีน และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลภาครัฐ โดยตั้งทีมคณะทำงาน 20 บริษัท ระดมทรัพยากรและช่องทางสื่อสาร เช่น LINE, Google, Facebook, VGI, CP เพื่อสื่อสารทั้ง Online และ Offline

3.TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนหารือ Solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพหลังจากการสำรวจพื้นที่ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีนได้เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ

รวมทั้งหลายบริษัทเสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศเป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab

4.TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยสำรวจความต้องการภาคเอกชนผ่านทางการทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) หรือ 1.84 ล้านโดส ซึ่งจะนำส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป

“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้หารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะถัดด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายสนั่น กล่าว