วิธีการป้องกันการติดเชื้อ 'โควิด 19' ในเด็กและครอบครัว

วิธีการป้องกันการติดเชื้อ 'โควิด 19' ในเด็กและครอบครัว

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ห่วงเด็กและครอบครัวที่มีการติดเชื้อโควิด 19 เน้นย้ำมาตรการ และเฝ้าระวังเพื่อป้องกันมิให้ติดเชื้อเพิ่ม แนะไม่ควรพาเด็กออกไปที่สาธารณะ เว้นระยะห่าง ทานอาหารปรุงสุก

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 พบการติดเชื้อในเด็กเล็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบการระบาดเริ่มจากคนในครอบครัว เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วยโควิด 19 หรือติดจากญาติที่มาเยี่ยมโดยเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เริ่มจากคนหนุ่มสาววัยทำงานติดเชื้อก่อนที่จะ แพร่เชื้อให้ทางครอบครัว พ่อแม่ หรือเด็กๆ ในบ้าน ดังนั้น เมื่อกลับจากทำงาน ควรชำระล้างร่างกาย อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที


นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กและครอบครัว สามารถป้องกันได้ สิ่งที่ร่วมกันป้องกันได้ในขณะนี้ คือ การแยกของใช้ส่วนตัว แยกพื้นที่จากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด 19 แยกรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ห้ามพาเด็กออกไปที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น ควรให้เด็กเล่นในบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใกล้ชิดคนอื่นให้น้อยที่สุด

ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กไม่ควรออกไปนอกบ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกไปเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนมาเล่นกับเด็ก สอนเด็กล้างมือ ใส่หน้ากาก กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด และนอนพักผ่อน ให้เพียงพอ จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในช่วง 3 ระยะของการระบาดพบว่า เด็กติดเชื้อโควิด 19 เกือบร้อยละ 90 อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อยหรือไม่มีอาการ

มีส่วนน้อยที่จะมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการรุนแรงมักจะพบในเด็กอายุน้อยมากๆ เช่นในเด็กต่ำกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว กรณีที่ไม่แน่ใจ แนะนำว่าไม่ควรออกจากบ้านเพื่อมารอตรวจซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยง ในการรับเชื้อเพิ่ม แต่ขอให้โทรมาติดต่อสอบถาม เพื่อรับการประเมินเบื้องต้น และรับคำแนะนำแนวทางการเข้ารับการรักษา ได้ที่ 1415 สายตรงโรงพยาบาลเด็ก

161951659512