แบงก์รับ‘โควิด’ระลอก3 ฉุดลูกหนี้ทรุด SCB ชี้รายย่อย แห่ซบมาตรการพุ่ง

แบงก์รับ‘โควิด’ระลอก3 ฉุดลูกหนี้ทรุด SCB ชี้รายย่อย แห่ซบมาตรการพุ่ง

"แบงก์พาณิชย์"เร่งประเมินผลกระทบโควิดระลอก3 หวังช่วยลูกหนี้ ชี้รอบนี้กระทบวงกว้างหนักกว่ารอบที่ผ่านมา รับลูกหนี้รายย่อยแห่ขอความช่วยเหลือเพิ่ม กรุงศรี เล็งสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ทีเอ็มบีย้ำติดตามพอร์ตลูกหนี้ใกล้ชิด

161945394865      นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 ระลอก3 ที่มีต่อพอร์ตลูกหนี้ของธนาคาร ซึ่งยอมรับว่าผลกระทบรอบนี้ หนักกว่าโควิด-19 รอบ2 และผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่เปราะบาง และได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

       ทั้งนี้หากดูพอร์ตลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆของธนาคาร โดยสิ้นไตรมาส 1ปี 2564 ลูกหนี้ขอรับการช่วยเเหลือเพิ่มเป็น 4.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 19% ของสินเชื่อรวม หากเทียบกับ สิ้นปี 2563 ที่ยอดเข้าโครงการลดเหลือ4.02 แสนล้านบาท หรือ 18% ของสินเชื่อ ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 ถึงขณะนี้มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่ที่ 1.2 ล้านคน

      สำหรับลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือเพิ่มผ่านมาตรการในไตรมาสแรกที่ผ่านมา หลักๆเป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก2 และส่วนใหญ่เป็นรายย่อย 1.87 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้เดิมที่เคยรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการมาแล้ว

      ขณะที่พอร์ตลูกหนี้เอสเอ็มอี ขอรับการช่วยเหลือล่าสุดอยู่ที่ 8.1หมื่นล้านบาท และพอร์ตลูกค้ารายใหญ่ราว 1.61 แสนล้านบาท ซึ่งพบว่าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายใหญ่ขอรับการช่วยเหลือลดลง เพราะระลอก2ไม่มีการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่จากโควิดระลอก3ธนาคารต้องประเมินผลกระทบต่อลูกหนี้เพิ่มเติม เพราะผลกระทบมีมากขึ้น

     นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19ระลอกใหม่นั้นมีความไม่แน่นอน และท้าทายกับภาคการธนาคารและเศรษฐกิจไทย ดังนั้นกรุงศรียังมุ่งให้ความสำคัญในการการช่วยเหลือลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม

     ทั้งนี้ผลกระทบโควิด-19ระลอก3 ธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลด้านความต้องการลูกค้า เพื่อนำมาใช้ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่มต่อไป

     สำหรับการช่วยเหลือลูกค้าหนี้ในช่วงสิ้นไตรมาส 1ปี2564 อยู่ 16% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นลูกค้ารายย่อย 228,984 บัญชี และลูกค้าธุรกิจ 27,906 ราย ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการสนับสนุนวงเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวน 22,585 ล้านบาท คิดเป็นลูกค้า 7,197 ราย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารออมสิน

    นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า จากการขยายมาตรการความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารอยู่ที่ 14% ของสินเชื่อรวม ทรงตัวหากเทียบกับปี 2563 แต่ลดลง 40% จากสิ้นมิ.ย. 2563

    สำหรับลูกหนี้ที่ยังอยู่ในโปรแกรมการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือระยะที่ 2 โดย ณ มี.ค. 2564 มีลูกค้าธุรกิจภายใต้มาตรการอยู่ที่ 19%ของสินเชื่อธุรกิจรวมและรายย่อย 10%

    ทั้งนี้ จากผลกระทบของโควิดรอบใหม่ ธนาคารยังคงติดตามดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารยังดีอยู่ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อมั่นใจว่าลูกค้าสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว