ชี้ชะตา 3 หุ้นไอพีโอ ‘รอด’ หรือ ‘ร่วง’

ชี้ชะตา 3 หุ้นไอพีโอ ‘รอด’ หรือ ‘ร่วง’

ในรอบสัปดาห์นี้ (26-30 เม.ย.64) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดเอ็มเอไอ (mai) เตรียมต้อนรับ “3 หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ” ที่เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด)

นำโดย บมจ.พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (PROS) เข้าเทรดวันที่ 27 เม.ย. ในตลาด mai ถัดมา บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW) เทรดวันที่ 28 เม.ย. ในตลาด SET และ บมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) เทรดวันที่ 29 เม.ย. ในตลาด mai

161945364160

ด้านนักวิเคราะห์ วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า หุ้นที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างช่วงสัปดาห์นี้คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เพราะเป็นช่วงที่คนพร้อมเข้าเก็งกำไรหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก)

ประกอบกับราคาหุ้น IPO ตัวที่เข้ามาระดมทุนก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ปรับขึ้นเหนือราคาจอง หรือสร้างผลกำไรมากกว่าขาดทุน แตกต่างจากตลาด IPO ในอดีตประมาณ 2-3 ปีก่อนที่ต้องเลือกลงทุนรายตัว อีกทั้งหลังกระแสการขายหุ้น IPO ของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่ให้ผลตอบแทนดีในการซื้อขายวันแรกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้นักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อหุ้น IPO มากขึ้น 

“อย่างไรก็ดี แนะนำให้ดูราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) เป็นหลัก หากราคาพุ่งขึ้นไปเยอะไม่แนะนำให้ไล่ซื้อตาม โดยให้ทยอยสะสมเมื่อราคาหุ้นปรับฐานลงมาต่ำกว่าราคาเหมาะสมที่นักวิเคราะห์ให้ไว้” วีระวัฒน์ กล่าว

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัท มีแนวโน้มปรับขึ้นเหนือจอง สอดคล้องกับหุ้น IPO ในอดีตที่มีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือเป็นหุ้นที่มีขนาดไม่ใหญ่ และมีการกระจายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไปอย่างจำกัด โดยส่วนใหญ่ราคาเปิดจะพุ่งขึ้นสูง แต่มีความเสี่ยงทิ้งตัวลงมาภายหลังเช่นกัน

“การลงทุนหุ้น IPO คนที่มีหุ้นควรขายทำกำไรออกมาบางส่วน แต่คนที่ไม่มีของไม่ควรไล่ซื้อ เพราะจะเสียเปรียบเรื่องต้นทุนที่ได้มาแพงกว่า โดยแนะนำให้รอราคาหุ้นปรับตัวลงมาสร้างฐานตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจริงๆ ในช่วง 1-2 เดือนแรก แล้วค่อยเข้าลงทุน” วิจิตร กล่าว

ส่วนประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าตลาดหุ้นเริ่มตอบรับดีขึ้น หลังจากยอดติดเชื้อรายวันปรับลดลงมาเล็กน้อย แต่ยังทรงตัวสูงที่ 2,000 ราย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงในกรณีเลวร้าย เช่น ผู้ติดเชื้อทะลุ 3,000 ราย จะเป็นแรงกดดันต่อหุ้นที่จะเข้าใหม่

ในมุมที่ปรึกษาการเงิน (FA) ยอดฤดี สันตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินแกนนำผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ ASW และ PROEN กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าหุ้นทั้ง 2 ตัวจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน จากกระแสหุ้น IPO ที่ร้อนแรงในปี 2564 สะท้อนจากความต้องการซื้อจากนักลงทุนที่เข้ามาอย่างล้นหลาม

“ต้องยอมรับว่าความนิยมซื้อหุ้น IPO พุ่งขึ้นอย่างมาก เพราะประวัติเหนือจองมากกว่าต่ำจอง โดยเฉพาะหุ้น OR ที่จุดประกายให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่เคยเปิดพอร์ตหุ้นมาก่อนเข้ามาลองซื้อหุ้น นอกจากนี้ ยังมีกระแสของหุ้น บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ที่กระจายหุ้นด้วยวิธีเดียวกัน ปรากฏว่านักลงทุนเข้ามาสอบถามข้อมูลเยอะมาก และยอดเปิดบัญชีใหม่ก็ยังสูงต่อเนื่อง” ยอดฤดี กล่าว

ส่วนปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ASW เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) สูงถึง 7.8 พันล้านบาท และมีองค์ความรู้การรับมือโควิด-19 จากประสบการณ์การระบาดหนักในปี 2563 ส่วน PROEN ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี ได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19