อุตฯอิเล็กทรอนิกส์โตดีช่วงสั้น   “การปรับตัว”สำคัญระยะยาว

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G หรือยานยนต์อัจฉริยะที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสินค้าไฮเทคเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G หรือยานยนต์อัจฉริยะที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสินค้าไฮเทคเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ความต้องการแผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuit: IC) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive: HDD) เติบโตดี อีกทั้งรัฐบาลเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก สัดส่วน 90-95%  โดยสินค้าที่สำคัญ และมีมูลค่าส่งออกสูงสุด คือ HDD และ IC โดยเฉพาะ HDD ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของโลก จากการย้ายฐานของบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรม HDD และ IC ของไทยมีลักษณะความแตกต่างเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรม HDD จะผันแปรตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์/ประมวลผลและเน้นตลาดส่งออกในสัดส่วนสูงกว่า 90% 

โดยมีสัดส่วนการส่งออกเกือบ 30% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของไทย อีกทั้งยังพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติที่มุ่งหาฐานผลิตที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุน

โดยข้อมูลในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออก HDD อันดับ 2 ของโลก ส่วนผลิตภัณฑ์ IC ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเกือบทั้งหมด 95-99% โดยไทยเป็นผู้ส่งออก IC อันดับ 14 ของโลก

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2564-2566 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับ สต็อกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในระดับต่ำจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วง Lockdown ของหลายประเทศ ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 3-4% ต่อปี จากปัจจัยบวก ได้แก่ (1) ความต้องการ HDD ที่มีความจุสูง (ขนาด 3.5 นิ้ว) เพื่อรองรับการใช้งาน Cloud computing และ Data center ในการจัดการกับ Big data ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 

(2) ผู้ผลิต HDD ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อยืดอายุการใช้งาน และให้มีความจุขนาดใหญ่เพื่อรองรับข้อมูลที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว

ในส่วนของ IC การผลิตมีแนวโน้มเติบโตดี มูลค่าส่งออกคาดว่าจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 6-7% เนื่องจาก ประชาชนต้องทำงานและเรียนที่บ้าน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตาม Megatrends ของโลก อาทิ เทคโนโลยีในรถยนต์ Smartphone รุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อสัญญาณ 5G ต้องใช้ IC ในปริมาณมากกว่า Smartphone รุ่นเชื่อมต่อสัญญาณ 4G ถึง 40%

แม้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในระยะสั้น แต่จากการศึกษาสถานะการแข่งขันในตลาดโลกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2562 พบว่ามูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างน้อยและเติบโตลดลง

เนื่องจากการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงการรับจ้างประกอบหรือรับเหมาช่วงให้กับบริษัทในต่างประเทศจากข้อจำกัดที่ยังขาดเทคโนโลยีต้นน้ำซึ่งต้องลงทุนสูงในด้านการวิจัยและพัฒนา 

ทำให้การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของไทยโดยรวมยังปรับตัวได้ค่อนข้างช้าไม่ทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งปัจจุบันไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนแรงงานและการพัฒนาด้านบุคลากรของไทยยังก้าวไม่ทันคู่แข่งหลายประเทศในเอเชีย ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยต่ำลง และอาจนำไปสู่การปรับแผนกระจายการลงทุนใหม่ๆ ของบริษัทข้ามชาติไปยังแหล่งผลิตอื่นที่มีความได้เปรียบมากกว่า ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนการพัฒนาในระยะยาวไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประสิทธิภาพในระยะสั้น