สธ.ชงศบค.ยกระดับคุมโควิด19"ล็อกดาวน์เฉพาะจุด"บางพื้นที่

สธ.ชงศบค.ยกระดับคุมโควิด19"ล็อกดาวน์เฉพาะจุด"บางพื้นที่

สธ.เผยโควิด19 ระบาดรุนแรงขึ้น ชงยกระดับมาตรการควบคุม ปรับระดับสีจังหวัด เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้ม "ควบคุมสูงสุดกรณีพิเศษ"- บางจังหวัดกำหนด "ล็อกดาวน์เฉพาะจุด"

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข(ศปก.สธ.)ว่า เป็นการประชุมเร่งด่วน สืบเนื่องจากสถานการณ์ระบาดมีความรุนแรงขึ้น จากการวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนภูมิภาค การระบาดจะเป็นลักษณะสะเก็ดไฟ มีกลุ่มก้อนบ้าง แต่ควบคุมได้ ปัญหาหลัก คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และปัญหาเตียง จึงได้มีการหารทอถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาทุกภาคส่วน ทั้งกทม. ภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กองทัพและอื่นๆ โดยพยายามปรับวิธีการต่างๆ

“พบว่าปัญหา มาจากกระบวนการการบริหารจัดการ เพราะมีหลายภาคส่วนที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน มีการพูดคุยเพื่อดำเนินการบริหารจัดการเตียงให้ดี ทั้งนี้ จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนักอาจมีข้อจำกัด แต่ขณะนี้ยังมีเพียงพอ เพียงแต่หากการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เตียงผู้ป่วยหนักจะรองรับได้ 1-2 สัปดาห์จากนี้ไป ส่วนผู้ป่วยปานกลาง โดยกรมการแพทย์มีมาตรการในการลดเวลาอยู่รพ. ลงในผู้ที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการให้เหลือ 10 วัน น่าจะทำให้การหมุนเตียงคล่องตัวขึ้น ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์จะมาจากญี่ปุ่น โดยถึงไทยประมาณตี 1-2 ประมาณ 2 ล้านเม็ด ซึ่งจะแจกจ่ายออกไปได้ ส่วนมาตรการดูแลรักษาต่างๆ นั้น ตัวเลขยังทรงๆอยู่ ต้องรออีก 2-3 วันในกทม.จะเป็นอย่างไร แต่ตัวเลขฐานก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น การเพิ่มมาตรการควบคุมโรคจึงสำคัญ"นพ.เกียรติภูมิกล่าว


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ศปค. สธ. จะเสนอให้เพิ่มมาตรการขึ้นด้วยการปรับระดับสีของจังหวัด จากเดิมมี 2 ระดับ คือแดงและส้ม จะปรับเป็น 3 ระดับ คือ สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดกรณีพิเศษ สีแดงพื้นที่ควบคุมสูงสุด และสีส้มพื้นที่ควบคุม และจะขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปรับมาตรการการ ที่เรียกว่า ล็อกดาวน์เฉพาะจุด (Target Lockdown) เกี่ยวกับห้ามกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มจำนวนมาก ซึ่งทางจังหวัดจะพิจารณาดำเนินการ ส่วนมาตรการระดับประเทศก็จะคงไว้อีก 2 สัปดาห์ โดยมาตรการต่างๆนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศปก.ศบค. ก่อนเข้าสู่ศบค.ชุดใหญ่ต่อไปซึ่งคาดว่าจะประชุมในวันที่28-29เม.ย.นี้

เมื่อถามถึงกรณีรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ให้มีการตั้งศูนย์รับและกระจายผู้ป่วย โควิด19ในเขตกรุงเทพ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ดังกล่าว คาดว่าจะมีการกระจายทั่วกรุงเทพฯ อย่าง รพ.สนาม หากผู้ป่วยสีเขียว ก็จะพักในรพ.สนาม แต่ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงก็จะไปรพ. ซึ่งจะมีกระบวนการคัดกรอง ส่วนจำนวนเตียงต่างๆ อย่างเตียงสีเขียวมีพอเพียง แต่ที่เดือดร้อน คือ สีเหลือง และไอซียู หากมีการจัดการเหมาะสมก็จะจัดการได้ และปัญหาข้อมูลตัวเลขที่ถูกส่งเข้ามาก็มีความซ้ำซ้อน บางแห่งเกือบ 50% อย่างบางแล็ปที่ส่งเข้ามา กำลังตรวจสอบและพยายามกระจายผู้ป่วยให้ไปอยู่ในสถานพยาบาลต่อไป


ถามถึงกรณีการปรับระดับสีใหม่ อย่างพื้นที่สีแดงเข้ม จะต้องห้ามการเคลื่อนย้ายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ไม่ได้ห้ามคนเคลื่อนย้าย แต่ให้ระวังตัว และเป็นการจำกัดสถานที่ คล้ายๆมาตรการกทม.ที่ออกมา

“ทุกจังหวัดได้รับผลกระทบกันหมด และก็พยายามปรับคนให้เหมาะสมกับเนื้องาน และหาจิตอาสา บุคลากรอื่นๆ อาจเป็นผู้เกษียณมาช่วยให้เหมาะสมกับงานแต่ละอย่าง โดยภูมิภาคมีระบบรองรับ มีเพียงกทม.อาจรวนๆ แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงอยู่ ส่วนกรณีไอซียูสนามนั้น ก็มีการเตรียมพร้อมเช่นกัน ขณะนี้ไอซียูรพ.ยังรองรับได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งยังมีเวลาเตรียมไอซียูสนาม แต่ปัญหาต้องหาบุคลากรจำเพาะด้วย เรื่องนี้ก็กำลังดำเนินการ”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการระบาดระลอกนี่ 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสะสมสูงสุด คือ กทม. 8,175 ราย เชียงใหม่ 3,148 ราย ชลบุรี 1,859 ราย นนทบุรี 1,151 ราย สมุทรปราการ 1,066 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 984 ราย สมุทรสาคร 653 ราย ปทุมธานี 525 ราย นราธิวาส 477 ราย และสงขลา 450 ราย ที่อาจจะเข้าข่ายถูกยกระดับเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและมีTarget lockdownในบางจุด