ลงทุนอะไร ในยุคดอกเบี้ยต่ำ แต่เงินเฟ้อพุ่ง
เปิดบทวิเคราะห์ ทำไม "หุ้นกู้เอกชน" โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชนของจีน ถึงเป็นคำตอบของการลงทุน ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำและการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ท่ามกลางสภาวะที่นักลงทุนกลับมากล้าเสี่ยงหรือ Risk-on หลังจากทั่วโลกเริ่มกระจายวัคซีน ผู้คนและธุรกิจหวังว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตและทำธุรกิจอย่างปกติอีกครั้ง หนุนให้ราคาหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนดัชนีหุ้นในบางตลาดทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ดอกเบี้ยยังต่ำติดดินและมีแววจะต่ำต่อไปถึงปี 2023 ตามความเห็นของเฟดที่นับเป็นผู้นำทิศทางดอกเบี้ยโลก ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่เคยเป็นที่พึ่งของนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูงแต่อยากได้รายได้สม่ำเสมอ ในอัตราดอกเบี้ยที่พอใช้ได้ อย่างน้อยให้ชนะเงินเฟ้อ กลับไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรในหลายประเทศต่ำมาก หนักไปกว่านั้น ดอกเบี้ยบางประเทศเข้าขั้นติดลบไปนานแล้ว
เจอกับสภาวะเช่นนี้ นักลงทุนลำบากใจ เพราะหุ้นก็มีความเสี่ยงสูง แต่วางเงินไว้กับพันธบัตรแบบเดิมก็ได้ดอกเบี้ยต่ำเกินไป ยิ่งลงทุนนาน ยิ่งไม่คุ้ม เพราะมูลค่าที่เพิ่มขึ้นยังแพ้แม้แต่เงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัวขึ้นตามการเปิดเศรษฐกิจ (Reopening)
หุ้นกู้เอกชนน่าจะเป็นคำตอบที่ดีได้ เพราะให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นส่วนเพิ่มจากพันธบัตร ซึ่งโดยรวมพอจะเอาชนะเงินเฟ้อได้ และมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น แม้กระนั้น ข่าวคราวการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอกชนก็มีให้เห็นเป็นระยะ ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนกลัวสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือกลัวว่าจะได้เงินต้นคืนไม่ครบ ดังนั้น การกระจายลงทุนในหุ้นกู้เอกชนหลายๆ บริษัทผ่านกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
บรรดาทางเลือกทั่วโลก หุ้นกู้เอกชนของจีน ถือว่าน่าสนใจ ด้วยปัจจัยหนุนหลายประการ ได้แก่
1. ตลาดตราสารหนี้ของจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐ โดยมีมูลค่าราว 16 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนเลือกสรรตราสารที่หลากหลาย ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรมณฑล ตลอดจนหุ้นกู้เอกชน ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และกระจายอยู่ในทุกอุตสาหกรรม เพราะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวดี บริษัทต่างๆ ต้องการระดมทุนไปขยายกิจการ
2. ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยน่าพอใจ โดยพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปี สกุลเงินหยวน ที่ปลอดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ให้ผลตอบแทนที่ 3.2% สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 1.6% ถึงสองเท่า ส่วนหุ้นกู้ที่อยู่ในเกณฑ์ลงทุนได้ (Investment Grade) นั้น ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี (อ้างอิงจาก S&P China High Quality Corporate Bond Index) และหุ้นกู้ High Yield ให้ผลตอบแทนสูงราว 6% ต่อปี (อ้างอิงจาก USD China Corporate High Yield Bond Index)
3. สภาพคล่องในระบบการเงินของจีนอยู่ในระดับสูง สนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยง อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ย Shibor Interbank Rate ที่ลดลงมาที่ 2.2% จากกว่า 3% ในช่วงปลายมกราคม 2021 เนื่องจากธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่ม ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลว่าทางการจีนจะถอนสภาพคล่องออกจากตลาดในเร็วๆ นี้
4. ความเสี่ยงไม่สูงมาก ตราสารหนี้กลุ่ม High Yield ในจีน มีสถิติการผิดนัดชำระหนี้เพียง 1.8% เนื่องจากผู้ออกตราสารส่วนหนึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ หากเทียบกับหุ้นกู้เอกชน High Yield ในสหรัฐที่มีสถิติการผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ราว 6% นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจจีนถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เพราะทางการจีนเน้นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสมดุล โดยคำนึงถึงทั้งอัตราการเติบโตและเสถียรภาพ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนเกิดความเสี่ยงของสภาวะฟองสบู่
5. ความสัมพันธ์กับตลาดตราสารหนี้โลกต่ำ มี Correlation หรือค่าสหสัมพันธ์กับตลาดตราสารหนี้โลกเพียงแค่ 0.15-0.20 เท่านั้น ทำให้การลงทุนในหุ้นกู้จีนช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้
แม้ว่าตลาดตราสารหนี้จีนจะมีขนาดใหญ่ ผลตอบแทนคาดหวังสูง รวมถึงความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ แต่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ยังลงทุนในตราสารหนี้จีนค่อนข้างน้อย ทำให้มีโอกาสอีกมากที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีนเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำและการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงขึ้น การเติมเต็มพอร์ตลงทุนด้วยกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจีน ถือเป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ พร้อมคุณสมบัติในการกระจายความเสี่ยง เพื่อสร้างขุมทรัพย์การลงทุนระยะยาว