ย้อนรอย 'INTUCH' 38 ปี ก่อนถึงมือ 'GULF'

ย้อนรอย 'INTUCH' 38 ปี ก่อนถึงมือ 'GULF'

ก่อน 'อินทัช โฮลดิ้งส์' จะถึงมือ 'กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์' เคยผ่านคนดูแลมาแล้ว 2 กลุ่มผู้ถือหุ้น 'กูรู' วิเคราะห์ 'ผลตอบแทน' ในรูป 'ปันผลก้อนโต-ธุรกิจมั่นคง' เสน่ห์ 'ดึงดูด' นักลงทุนรายใหญ่อยากครอบครอง ใส่เกียร์ลุยแม้มูลค่าดีลแสนล.สู้ไม่ถอย !

บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 38 ปี (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2526) เปลี่ยนหุ้นใหญ่มาแล้ว 2 รอบ จากผู้ก่อตั้งหลักรายแรก 'ทักษิณ ชินวัตร' เดิมใช้ชื่อว่า 'ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสต์เมนต์' IPO ปี 2533 ก่อนที่ในปี 2544 จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ 'ชิน คอร์ปอเรชั่น' และเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี 2557

โดยบริษัทนี้เป็นโฮลดิ้งคอมพานี ถือหุ้นบริษัทอื่น ปัจจุบันถือหุ้น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC จำนวน 40.45% ก่อตั้งปี 2529 IPO ปี 2534 และ บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ถือหุ้น 41.13% ก่อตั้งปี 2534 IPO ปี 2537 

ทว่าเมื่อ 23 ม.ค.2549 'ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์' ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น เป็นช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ ทักษิณ ชินวัตร โดยตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชินคอร์ป) ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (เทมาเส็ก) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท ซึ่งเป็นดีลประวัติศาสตร์ที่สูงสุดในไทยเวลานั้น ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

ล่าสุด 'อินทัช โฮลดิ้งส์' กำลังจะถูกถ่ายโอนอำนาจสู่ผู้ลงทุนรายใหม่อย่าง 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' เจ้าของตัวจริง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF และแชมป์เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่ง 2 ปีซ้อนในปี 2562-2563 ด้วยมูลค่าดีล 'แสนล้านบาท' โดย GULF แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 เม.ย. 2564 อนุมัติให้บริษัทลงทุนใน หุ้น INTUCH ผ่านการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ โดยสมัครใจโดยมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Te nder Offer) ในราคาหุ้นละ 65 บาท จำนวนไม่เกิน 2,599,631,112 หุ้น หรือ 81.07% ของหุ้นทั้งหมด INTUCH และในกรณีที่มีการใช้สิทธิแปลงวอร์แรนท์ทั้ังหมด บริษัทจะต้องซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มอีก 1,268,956 หุ้น คิดเป็นเงินรวม 169,058 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากกฎ Chain Principle ในกรณีที่ผลของการทำเทนเดอร์บริษัทถือหุ้น INTUCH เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ INTUCH บริษัทต้องงทำคำเสนอซื้อหุ้น บมจ.ไทยคม (THCOM) และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) โดยกรณี THCOM บริษัทไม่ต้องการทำเทนเดอร์จึงจะขอผ่อนผันกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ส่วนหุ้น ADVANC เมื่อบริษัททำเทนเดอร์ INTUCH เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการหารือกับ ก.ล.ต. ในการขอผ่อนผันระยะเวลาการเริ่มทำเทนเดอร์ ที่บริษัทจะทำเทนเดอร์ ADVANC ที่ราคา 122.86 บาท จำนวน 2,973,554,313 หุ้น หรือ 100% ซึ่งหากมีการใช้สิทธิแปลงวอร์แรนท์คงเหลือทั้งหมด จะต้องซื้อหุ้นสามัญ ADVANC อีก 1,304,977 หุ้น มูลค่า 365,491 ล้านบาท ซึ่งหากรวมการทำเทนเดอร์ INTUCH และ ADVANC จะใช้เงินรวม 534,549.72 ล้านบาท แหล่งเงินทุนจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและเงินกู้จากสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำคัญการทำเทนเดอร์ INTUCH จะมีผลสำเร็จ จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น GULF ในวันที่ 25 มิ.ย.2564 และต้องได้รับการผ่อนผันไม่ต้องทำเทนเดอร์หุ้น THCOM 

161918127250

สารัชถ์ รัตนาวะดี

ดูเหมือนคำกล่าวที่ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' เจ้าของ GULF ที่เคยกล่าวไว้บนเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งว่า 'GULF เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยก็จริง แต่เมื่อเทียบกับระดับโลกแล้ว ยังมีมูลค่าเทียบกับมดเพียง 1 ตัวเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้ GULF ต้องพยามสร้างการเติบโตด้วยวิธีซื้อกิจการที่พร้อมทำกำไรเข้ามาในพอร์ตทันที'  ซึ่งจะเป็นวิสัยทัศน์หลักสำหรับสร้างการเติบโตของบริษัท ซึ่งถ้า GULF

'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ไขข้อสงสัยทำไม ? หุ้น INTUCH ถึงเปลี่ยนผ่านมือกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ด้วยมูลค่าปิดดีลระดับหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท ! ถึง 2 รอบ 

'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคม 'นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ' บอกว่า 'ผมบอกก่อนว่า ไม่มีหุ้น INTUCH และ GULF และไม่ค่อยได้ติดตามดีลครั้งนี้เท่าไหร่ !' แต่เท่าที่ดูดีลระดับแสนล้านบาทครานี้... มองว่าที่การที่ GULF ตัดสินใจซื้อหุ้น INTUCH น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

ข้อ1. คาดว่า GULF น่าจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ สะท้อนผ่านสถาบันการเงินเสนอตัวปล่อยเงินกู้ให้ และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผลของ INTUCH เฉลี่ยระดับ 4% ซึ่งมองว่าเช่นนั้น 'ก็เปรียบเสมือน GULF จับเสือมือป่าว' เพราะต้นทุนเงินกู้ต่ำกว่าเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี

ข้อ2. คาดว่า GULF น่าจะมองที่ความมั่นคงและแน่นอนของธุรกิจ โดยธุรกิจของ INTUCH เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล (โทรคมนาคม, ดาวเทียม, 5G และลงทุนในสตาร์ทอัพ) และยังมีธุรกิจโอปอเรเตอร์มือถือเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม

'เชื่อว่า GULF ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องกู้เงิน เพราะสถานบันการเงินน่าจะมองเห็นว่า GULF เป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงต่ำในการใช้คืนเงินกู้ ด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดว่าในอนาคตจะมีกำไรเข้ามาปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และหากได้ INTUCH เข้ามาก็เหมือนได้ ADVANC ซึ่งธุรกิจก็มั่นคงและจ่ายปันผลให้สูง ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่แบงก์จะไม่ปล่อยกู้'   

'สมิทธ์ พนมยงค์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน GULF เปิดเผยว่า การทำเทนเดอร์หุ้น INTUCH บริษัทจะไม่มีการเพิ่มทุน โดยจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศมาเสนอเพิ่มกรอบวงเงินกู้ให้บริษัทหลายราย และทาง SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD. ประกาศจะไม่ขายหุ้นออกมา เพราะการเข้าลงทุนในหุ้น INTUCH เป็นการลงทุนในระยะยาว ทำให้หากผู้ถือหุ้นรายอื่นนำหุ้นมาขายทั้งหมดจะใช้เงินทำเทนเดอร์ประมาณกว่า 1แสนล้านบาท แต่หากผู้ถือหุ้น INTUCH นำหุ้นมาขายน้อยก็จะใช้เงินทำเทนเดอร์ลดลง 

'ตามแผนก็คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1.69 แสนล้านบาท แต่หากขายออกมาไม่ถึงที่กำหนดก็จะใช้เงินน้อยลง ส่วนกรณี Singtel ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน INTUCH ก็ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะเท่าที่ทราบทาง Singtel มองว่าการลงทุนใน INTUCH ระยะยาว หาก Singtel ไม่ขายหุ้นออกมา ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน'

ส่วนกรณีที่บริษัทไม่ทำเทนเดอร์หุ้น THCOM เพราะบริษัทไม่ได้ต้องการเข้าไปเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหรือธุรกิจดาวเทียม ซึ่งบริษัทได้ขอผ่อนผันแล้ว คาดว่าจะรู้ผลชัดเจนใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับการอนุมัติ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้ว โดยบริษัทคาดว่ากระบวนการทำเทนเดอร์หุ้น INTUCH จะเสร็จปลายเดือนก.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน INTUCH เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่กัลฟ์ฯ เติบโตมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าและกำลังขยายไปสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งธุรกิจด้านดิจิทัล ก็ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเติบโตในอนาคต จึงมองว่า INTUCH มีแพลตฟอร์มที่ดีและมีกระแสเงินสดที่มั่นคง รวมถึงให้ผลตอบแทนที่ดี พร้อมเชื่อว่าจะช่วยต่อยอดการลงทุนที่บริษัทมีอยู่เดิมได้ และต้นทุนดอกเบี้ยในการกู้ยืมในครั้งนี้ก็ต่ำกว่าระดับ 3% เทียบกับผลกตอบแทนเงินปันผลที่ได้จาก INTUCH

@ สิงเทล ยันไม่ขายหุ้น

ด้านเว็บไซต์สเตรทส์ไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ INTUCH จำนวน 21% แจ้งตลาดหลัก ทรัพย์สิงคโปร์ ว่า บริษัทมองการถือหุ้นใน INTUCH และ ADVANC เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ และเชื่อมั่นในธุรกิจดังกล่าวในระยะยาว

ขณะนี้ SINGTEL กำลังทบทวนทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ถือหุ้น INTUCH และ ADVANC จะได้ผลประโยชน์เต็มที่จากมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ บริษัทจะเปิดเผยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสม ทั้งยังขอให้ผู้ถือหุ้นระงับกระทำการใดๆ ต่อหุ้น SINGTEL ที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอง และขอให้ระมัดระวังในการซื้อขายหุ้นสิงเทล

โบรกฯ มอง GULF ได้ประโยชน์

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง (BLS) บอกว่า มองว่าสิ่งที่ GULF จะได้จากดีลดังกล่าวนอกจากเงินปันผลแล้ว คาด GULF จะได้เข้าสู่ตลาด retail ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการซื้อขายไฟฟ้าโดยที่จะเป็นการขายตรงให้กับ end-user ซึ่งเรามองว่า GULF มีโอกาสที่จะอาศัยฐานลูกค้าของ AIS ในการขายไฟฟ้าให้กับ end-user โดยตรงได้

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) [บอกว่า ที่มองว่าธุรกรรมดังกล่าวจะทำให้ GULF ได้รับกำไรสุทธิเพิ่ม 2.5-4 พันล้านบาท โดย INTUCH เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล (โทรคมนาคม, ดาวเทียม, 5G และลงทุนในสตาร์ทอัพ) ซึ่งอาจเป็นโอกาสทำงานร่วมกันหรือสร้าง synergy กับ GULF เนื่องจากในอนาคต อุตสาหกรรมพลังงาน มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย  

ขณะที่ในระยะยาวยังสามารถคาดหวังการ synergy ทางธุรกิจร่วมกันกับ INTUCH ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับ GULF ทั้งนั้น