‘รัฐ-เอกชน’ ต้องเปิดใจ ฝ่าวิกฤติชาติไปด้วยกัน

‘รัฐ-เอกชน’ ต้องเปิดใจ ฝ่าวิกฤติชาติไปด้วยกัน

วันนี้ถึงเวลาที่ "รัฐ-เอกชน" ต้องเปิดใจฝ่าวิกฤติชาติไปด้วยกัน เมื่อภาคเอกชนรวมตัวเพื่อผลักดันข้อเสนอและยื่นมือเข้าช่วย ภาครัฐก็ต้องปิดใจให้กว้างเพื่อทำให้การขับเคลื่อนของเอกชนคล่องตัว เพราะหากปล่อยให้เกิดวิกฤติโควิดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศคงไม่รอด

ความเคลื่อนไหวของเอกชน บรรดาบิ๊กคอร์ปชั้นนำของไทยกว่า 40 บริษัท เพื่อร่วมมือกับภาครัฐฝ่าวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหญ่นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ชี้ว่าเมื่อเกิดวิกฤติขั้นสุดของชาติครั้งใด ทุกภาคส่วนจะทิ้งความอคติส่วนตัว แล้วร่วมจับมือเดินหน้าแก้ปัญหาร่วมกัน “วิกฤติโควิด” ครั้งนี้ นับเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย สะเทือนระบบเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตของคนทั่วโลกอย่างที่สุด วันนี้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ในประเทศไทยยังติดเชื้อต่อวันแตะหลักพันราย รวมทั้งเริ่มมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้นอย่างน่ากังวล

ในรอบสัปดาห์นี้ เราเห็นความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของทั้งภาครัฐในการวิ่งวุ่นหาวัคซีน หาเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่ภาคเอกชนตั้งวงใหญ่ถกปัญหา และร่วมกันหาแนวทางแก้วิกฤติครั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนคงรู้แล้วว่า หากปล่อยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศคงไม่ “รอด” ต้องมีอีกหลายชีวิต หลายธุรกิจที่ “ล้มหายตายจาก” ไปเป็นจำนวนมาก การรวมตัวภาคเอกชนเพื่อผลักดันข้อเสนอและยื่นมือเข้าช่วยภาครัฐ จึงเป็นทางออกที่จะทำให้ประเทศ “รอด” ได้ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบริหารจัดการวัคซีนได้ “ผิดพลาด”

ข้อเสนอแนะของซีอีโอในภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐควรต้องเปิดกว้าง และเปิดใจเพื่อให้เอกชนได้ร่วมบริหารจัดการวัคซีน ด้วยความเชี่ยวชาญสรรพกำลังของแต่บริษัทที่มีอยู่ รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี สถานที่ต่างๆ ที่จะทำให้ฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าการ “รวมศูนย์” อยู่ที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามาช่วย ภาครัฐต้อง “เปิดใจให้กว้าง” หาทางออกร่วมกันให้ได้ ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในระบบราชการลงบ้าง เพื่อทำให้การขับเคลื่อนของเอกชนคล่องตัว

ขณะเดียวกัน รัฐคงต้องอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กต่างๆ ผ่านมาตรการที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาวอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่คิดเพียงแค่กระตุ้นในระยะสั้น เพราะไม่เช่นนั้น ประเทศไทยที่ฉีดวัคซีนก็ช้ากว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว พอจะลืมตาอ้าปากได้ ภาคประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการขนาดเล็ก คงได้ล้มหายตายจากไปก่อน ประเทศวิ่งตามไม่ทันระบบเศรษฐกิจโลก หรือเอาแค่เศรษฐกิจในภูมิภาค ไทยก็คงอยู่รั้งท้าย

ความร่วมมือของรัฐ และเอกชน ครั้งนี้จึงสำคัญ ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจ เปิดรับฟังความเห็นถกหาแนวทางแก้วิกฤติให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ภาครัฐในฐานะผู้กุมระบบระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องผ่อนคลายลงบ้าง ลดการทำงานแบบราชการหัวโบราณลง เพราะใช้ไม่ได้กับสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ และก็ใช้ไม่ได้แล้วกับโลกยุคใหม่ การผ่อนคลายระบบที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน จะทำให้การขับเคลื่อนของเอกชนที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญรัฐอย่าเอาแต่พูดว่า “เปิดกว้าง” แต่เอาเข้าจริงในขั้นตอนปฏิบัติยังคง “ตรงกันข้าม” เพราะไม่เช่นนั้นการผนึกกำลังแก้วิกฤติชาติครั้งนี้คงไร้ประโยชน์