'สตง.' ติง 8 โครงการใช้เงินกู้ฯล่าช้า - จ่อพลาดเป้า แนะ ครม.สั่งเบรกได้ทันที

'สตง.' ติง 8 โครงการใช้เงินกู้ฯล่าช้า - จ่อพลาดเป้า แนะ ครม.สั่งเบรกได้ทันที

'สตง.'ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกลั่นกองเงินกู้ฯ ชี้ 8 โครงการที่ใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน จ่อพลาดเป้า เหตุจัดสรรเงินล่าช้า ดำเนินโครงการช้ากว่ากำหนด และหน่วยงานขาดความพร้อม แนะให้เสนอ ครม.ยุติโครงการที่คาดว่าจะไม่สำเร็จได้ทันที

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 พ.ศ.2563

สาระสำคัญระบุว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวพบว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มีความเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินกู้ฯไม่คุ้มค่า หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ฯจำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ

แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1.โครงการที่จัดสรรเงินกู้ล่าช้ากว่าแผนการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 3.5 พันล้านบาทโดยได้รับการจัดสรรวงเงินช้ากว่าที่กำหนดไว้ 1 เดือน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ได้รับการจัดสรรเงินกู้ล่าช้าเป็นระยะเวลา 2 เดือน

2.โครงการที่มีการดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนการดำเนินงานที่กำหนด ได้แก่ โครงการการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ซึ่งมีความล่าช่าในการทำฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มส่วนวัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ในแต่ละสำนักงานเกษตรจังหวัด ก็มีการจัดซื้อ จัดจ้างที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด โครงการพื้นที่องเที่ยวปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยว จากการตรวจสอบเอกสารและสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่าโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19

3.โครงการที่เจ้าของหน่วยงานขาดความพร้อมในการดำเนินงานโครงการ ได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่โดยสามารถรับสมัครเข้าร่วมโครงการได้เพียง 21556 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย ซึ่งในโครงการนี้มีการจำกัดอายุของเกษตรกรที่อายุเกิน 60 ปี และยังมีเงื่อนไขเรื่องที่เกษตรกรต้องยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินไม่น้อยกว่า 5 ปี ทำให้เกษตรกรจำนวนนึงไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ

4.โครงการการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงที่จะไมมีประสิทธิภาพ หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จำนวน 4 โครงการได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยพบว่าโครงการนี้เจ้าของหน่วยงานมีการขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดและเป้าหมายของโครงการเป็นระยะยๆ สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการในทันทีภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติ เช่นการปรับเปลี่ยนจำนวนเกษตรกรเป้าหมายซึ่งทำให้โครงการอาจไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้

โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ โดยโครงการนี้ สตง.พบปัญหาว่าโครงการไม่ได้มีการกำหนดแหล่งที่มาของข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครที่จ้างลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างบูรณาการ และข้อมูลที่มีการจัดเก็บอาจไม่เป็นปัจจุบันได้ในปีต่อๆไปข้อมูลที่รัฐบาลได้จากโครงการนี้อาจไม่ได้เป็นประโยชน์เมื่อต้องนำข้อมูลมาใช้ไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาชุมชน สังคม เศรษฐกิจได้จริง

โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้อาสาสมัคร 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง สตง.มองว่าอาจเป็นค่าตอบแทนที่ต่ำเกินไปที่จะจูงใจให้อาสาสมัครทำงานต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่องได้

และโครงการสุดท้ายที่ สตง.มองว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุผลได้แก่โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดิน และปุ๋ยเพื่อชุมชน ซึ่งโครงการมีแผนที่จะจัดซื้อชุดตรวจวิเคราะห์ค่าดิน (soil test kit) ซึ่ง สตง.มองว่าอาจเกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้งานได้ ขณะที่โครงการนี้ไม่มีความชัดเจนในการจัดซื้อแม่ปุ๋ยให้กับสมาชิกในโครงการทำให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้สมาชิกได้ผลิตปุ๋ยในราคาถูกทำได้อย่างยั่งยืน

“สตง.มีข้อเสนอด้วยว่าในการกำกับดูแลการดำเนินการในโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ฯ หากเป็นโครงการที่ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ หรือว่ามีเหตุผลชี้ชัดว่าหากดำเนินการไปแล้วจะไม่สัมฤทธิ์ผลก็ให้ ครม.สามารถสั่งยุติโครงการได้ทันที เพื่อนำเงินกู้ที่เหลือไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”