'รฟม.' เปิดประมูลเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวม 4 แห่ง

'รฟม.' เปิดประมูลเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวม 4 แห่ง

รฟม.เปิดประมูลเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ระยะสั้น 3 ปี สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวม 4 แห่ง รองรับผู้โดยสารใช้บริการ ชี้ปริมาณผู้โดยสารโตต่อเนื่อง มี.ค.ที่ผ่านมา พบ 2.73 แสนเที่ยวคนต่อวัน สร้างรายได้ค่าโดยสาร 7.41 ล้านบาทต่อวัน

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการให้เช่าและหรือเช่าบริหารพื้นที่ตามแนวสายทาง โครงการรถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวม 4 สถานีหลัก ประกอบด้วย พื้นที่ทางขึ้นที่ 1 ลงสถานีสามย่าน, พื้นที่ทางขึ้นลงที่ 1 สถานีเพชรบุรี, พื้นที่บริเวณด้านหลังศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดปโป้) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และพื้นที่ทางขึ้นลงที่ 2 สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำหรับการประกวดราคาเช่าพื้นที่ดังกล่าว รฟม.ต้องการสนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ที่ใช้บริการกิจจการรถไฟฟ้า โดยมีกำหนดระยะเวลาให้เช่าไม่เกิน 3 ปี กำหนดอัตราค่าตอบแทนการเช่าพื้นที่ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ของทุกปี และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ถึงเวลา 17.00 น. วันที่ 23 เม.ย.2564

อย่างไรก็ดี ภายหลังรับข้อเสนอเอกชนแล้ว รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกข้อเสนอจากผู้ยื่นเสนอราคาที่ผ่านคุณสมบัติ และมีการยื่นราคาเช่าสูงสุดและเป็นที่พอใจกับ รฟม. เป็นผู้ชนะการประกวดราคาและได้สิทธิในการเข้าทำสัญญาเช่ากับ รฟม.เพียงรายเดียว โดยหลังจากขั้นตอนการคัดเลือกและเจรจาตกลงราคาแล้ว ผู้ได้รับสิทธิจะต้องส่งรูปแบบรายละเอียดการก่อสร้างให้ รฟม.พิจารณาภายใน 30 – 60 วัน นับจากวันที่ทราบผลการเจรจา

นอกจากนี้ ผู้ได้รับสิทธิการเช่าพื้นที่ของ รฟม.จะต้องเข้าทำสัญญากับ รฟม.ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจาก รฟม. โดยในวันทำสัญญาผู้ได้รับสิทธิการเช่าพื้นที่ของ รฟม. จะต้องวางเงินประกันสัญญาเป็นเงินไม่ต่ำกว่าอัตราค่าตอบแทนเช่าพื้นที่ 3 เดือน

รายงานข่าวจาก รฟม.ยังเผยด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. ให้สัมปทานแก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม โดยสถิติปริมาณผู้โดยสารอัพเดตล่าสุดของบีอีเอ็ม พบว่าผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รถไฟฟ้ายังเป็นขนส่งสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการ

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอยู่ที่ 2.73 แสนคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 2.18 แสนคนเที่ยว ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันทำงาน พบว่าเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 3.07 แสนคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2564 ที่มี 2.51 แสนคนเที่ยว

เช่นเดียวกับรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อวัน ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2564 ที่มีรายได้ 6.10 ล้านบาท และรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อวันทำงาน ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 8.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2564 ที่มี 7.04 ล้านบาท ขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามี 27.18 บาทต่อเที่ยว ลดลงจากเดือน ก.พ.2564 ที่มี 28.05 บาทต่อเที่ยว