อสังหาฯเจาะอำนาจซื้อLGBT ‘พร้อมจ่าย’ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

อสังหาฯเจาะอำนาจซื้อLGBT  ‘พร้อมจ่าย’ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

กลุ่มเพศทางเลือก หรือ LGBT ชาวไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีจำนวน 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วนราว 5% ของประชากรไทย ถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจในการผลิตสินค้าขึ้นมาตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจง! รวมทั้งค่ายอสังหาริมทรัพย์ เริ่มเปิดตลาดที่อยู่อาศัยเจาะตลาดนี้

ตัวเลขของ LGBT CAPITAL ปี 2562 พบว่า กลุ่มเพศทางเลือก หรือ LGBT ชาวไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีจำนวน 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วนราว 5% ของประชากรไทย ถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจในการผลิตสินค้าขึ้นมาตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจง! รวมทั้งค่ายอสังหาริมทรัพย์หลายราย เริ่มเปิดตลาดที่อยู่อาศัยเจาะตรง “LGBT” ไม่ว่าจะเป็นแสนสิริ ออริจิ้น เอสซี แอสเสท พฤกษา ฯลฯ

สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม LGBT มีอำนาจซื้อสูงนับเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเทอร์ร่า บีเคเค 1,132 ราย พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 85,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป LGBT มีสัดส่วนสูงถึง 19% เทียบสถานะชายหญิง มีสัดส่วน 15% และกลุ่มที่มีรายได้ 50,000-85,000 บาทต่อเดือนนั้น คนกลุ่ม LGBT ก็มีจำนวนมากกว่า อยู่ที่ 23% เมื่อเทียบกับชายหญิงทั่วไปมีสัดส่วน 14% ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มการเลือกซื้ออสังหาฯ คนกลุ่ม LGBT จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือของแบรนด์มากกว่ากลุ่มชายหญิง และเป็น “5 อันดับแรก” ที่ให้ความสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่า “แบรนด์” และ “ความน่าเชื่อถือ” มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ของกลุ่ม LGBT

ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักอยู่กัน 2 คนเป็นหลักเพราะไม่มีลูก ซึ่งจะแตกต่างกับพฤติกรรมคนซื้อบ้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่วางแผนครอบครัวมีสมาชิก (ลูก) เพิ่ม หรือต้องการอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่า หรือตายาย อยู่ร่วมด้วย

"LGBT เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง จึงถือเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่สินค้าและบริการจากแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจในการเจาะตลาดนี้เพิ่มขึ้น"

ทั้งนี้ LGBTเป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ แบบ Work hard, Play hard ดังนั้นรูปแบบอสังหาฯที่ได้รับความนิยมของคนกลุ่มนี้จึงเป็นคอนโดมิเนียมมากกว่าบ้านเดี่ยว เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกของทำเลที่ตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีครบครัน

สุมิตรา กล่าวว่า ปัจจัยในการเลือกซื้ออสังหาฯ ของคนกลุ่ม LGBT นั้นให้ความสำคัญมากกว่าคนกลุ่มชายหญิง คือ พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต ซึ่งแนวโน้มคนกลุ่มนี้จะมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพราะหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดรับในสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของความรักหรือเรื่องของสถานะทางเพศ

สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้มีดีเวลลอปเปอร์ค่ายไหนที่พัฒนาโครงการมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่ม LGBTแบบเฉพาะเจาะจง แต่ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการสื่อสารผ่านโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนการดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ M Silom ที่ช่วงท้ายก่อนปิดโครงการเปลี่ยนสีป้ายโฆษณาเป็นสีชมพูแสด เพื่อดึงดูดกลุ่ม LGBT เพราะโครงการพบว่ามีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ในโครงการจำนวนมาก ค่าย SC Asset เจ้าของโครงการ เซ็นทริค ห้วยขวางที่ใช้ผู้แสดงเป็น LGBT หรือค่ายแสนสิริ มีโครงการ BuGaan(บูก้าน) บ้านหรูระดับ เอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ ใจกลางเมือง ราคาเริ่มต้น 30-80 ล้านบาท กับ “แนวคิด My Home Speaks for Myself บ้านที่บ่งบอกความเป็นตัวตน” ในสื่อโฆษณาใช้ผู้ชาย แทนใช้ครอบครัวซึ่งหลายๆคนกล่าวว่าน่าจะตอบรับกลุ่ม LGBT

ขณะเดียวกันในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลายธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี และ ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดรับพิจารณาการกู้ร่วมไม่แตกต่างจากคู่สมรสชายหญิงปรกติ ทั้งในด้านวงเงินการปล่อยสินเชื่อ และเอกสารประกอบยื่นขอสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงระวังนั่นคือ กลุ่ม LGBT จริงๆ ไม่ได้อยากให้มองเขาแบบเฉพาะเจาะจง! เพราะพวกเขายังอยากอยู่กลมกลืนกับกลุ่มคนชายหญิงทั่วไป กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ควรเคารพความเป็นตัวตนของกลุ่มผู้บริโภค (Respect)เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาที่ต้องการการยอมรับจากสังคม ยอมรับในความเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านสินค้าและบริการที่มีรสนิยมไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์ วัสดุ โทนสี การตกแต่งบรรยากาศ หากสามารถพัฒนาโครงการที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนกลุ่มนี้ได้ “โอกาส” ที่กลายเป็นแบรนด์ที่อยู่ในดวงใจคนกลุ่มนี้ไม่ยาก ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่มีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอย