'กาชาด' ขาดเลือดหนัก วอนช่วยบริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วประเทศ

'กาชาด' ขาดเลือดหนัก วอนช่วยบริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วประเทศ

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วอนคนไทยสุขภาพดี ช่วยบริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน ชี้ สถานการณ์การระบาด COVID -19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้โลหิตขาดแคลนหนัก วิกฤติทั่วประเทศ

รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การบริจาคโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง มีความต้องการใช้โลหิตวันละ 6,500 - 7,000 ยูนิต ปัจจุบันปริมาณโลหิตบริจาคทั่วประเทศ ได้เพียงวันละ 2,000 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมากทุกแห่ง หน่วยงานยกเลิกการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต พนักงานหลายองค์กรต้องทำงานที่บ้าน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดหรือมีการกักตัว โรงพยาบาลทุกแห่งขาดเลือด ไม่มีโลหิตเพียงพอในการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด อาทิ โรคธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การชะลอและเลื่อนการรักษาด้วยโลหิต อาจส่งผลอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้ขอให้ผู้บริจาคโลหิตเชื่อมั่นในการทำงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ผู้ทำหน้าที่จัดหาโลหิตบริจาคที่ปลอดภัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยยกระดับ มาตรการ 3 ข้อ “คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม” ดังนี้

161906986674

1. คัดกรอง  สำหรับผู้บริจาคโลหิต ขอให้คัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต เช่น หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นขึ้น เดินทางไปยังสถานบันเทิง ตลาด สถานที่แออัด พื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย/ ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ต้องงดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 14 วัน 

161906988355

สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สามารถบริจาคโลหิตได้ ดังนี้

  • กรณีฉีดวัคซีน Sinovac เว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
  • กรณีฉีดวัคซีน Astrazeneca และ Johnson & Johnson เว้น 4 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้
  • หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้รอหลังหายดีแล้ว เว้น 1 สัปดาห์ บริจาคโลหิตได้

2. เข้มงวด บุคลากรมีความตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทุกคนในพื้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีแอลกอฮอล์เจลล้างมือทุกจุดสัมผัส สถานที่และอุปกรณ์สะอาดปลอดเชื้อ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง และจัดตั้งฉากกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคโลหิตทุกจุดของกระบวนการบริจาคโลหิต 

3. ครอบคลุม โดยมาตรการทั้งหมดครอบคลุมทั้งที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล

สถานที่รับบริจาคโลหิต (ส่วนกลาง) สถานที่รับบริจาคโลหิต (ส่วนภูมิภาค)

1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

2. ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง ได้แก่ ภาคฯ จ.ลพบุรี, ภาคฯ จ.ราชบุรี, ภาคฯ จ.ขอนแก่น, ภาคฯ จ.นครสวรรค์, ภาคฯ จ.เชียงใหม่, ภาคฯ จ.ภูเก็ต, ภาคฯ จ.ชลบุรี, ภาคฯ จ.นครราชสีมา, ภาคฯ จ.อุบลราชธานี, ภาคฯ จ.พิษณุโลก, ภาคฯ จ.สงขลา, ภาคฯ จ.นครศรีธรรมราช

3. หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่  6  แห่ง ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค), บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง),  เดอะมอลล์ บางแค, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน,  ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม

โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ,โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า

ขอความร่วมมือ

  • ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงตามความเป็นจริง หากไม่แน่ใจ ควรงดการบริจาคโลหิตชั่วคราว เพื่อเว้นระยะเวลาการพบเชื้อ 14 วัน
  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เดินทางมาบริจาคโลหิต และตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่รับบริจาค