“เอเซีย พลัส” จ่อเพิ่มเป้ากำไรบจ.ปี 64 สัญญาณไตรมาสแรกสดใส

“เอเซีย พลัส” จ่อเพิ่มเป้ากำไรบจ.ปี 64 สัญญาณไตรมาสแรกสดใส

“เอเซีย พลัส” เผยเตรียมปรับเพิ่มเป้ากำไร บจ.ปี 64 จากเดิมคาดโต 32% ที่ 7.96 แสนล้าน เหตุงบกลุ่มแบงก์ไตรมาส 1/64 ปรับตัวดีเกินคาด-ราคาน้ำมันสูงขึ้นหนุนกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ชี้โควิดในประเทศกดดันกำไรระยะสั้น

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2564 จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 32% อยู่ที่ 7.96 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 70.20 บาท เพราะสัญญาณกำไรไตรมาสแรกมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด สะท้อนจากกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาแข็งแกร่ง ซึ่งกลุ่มนี้มีน้ำหนักในตลาดหุ้นสูงถึง 20%

นอกจากนี้ คาดว่ากำไรกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่เป็นโครงสร้างหลักของตลาดหุ้นไทย หรือมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของกำไรทั้งหมด จะออกมาสูงกว่าคาดเช่นกันตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดว่ากำไรไตรมาสแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงกลุ่มเหล็กที่กำไรมีโอกาสปรับขึ้น (อัพไซด์) จากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูง

ส่วนปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ และการกระจายวัคซีนในประเทศที่ค่อนข้างล่าช้ามองเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นหลัก โดยคาดว่าในกรณีเลวร้ายจีดีพีปี 2564 จะเติบโตเพียง 2% จากคาดการณ์ที่ฝ่ายวิจัยให้ไว้ที่ 2.6%

ขณะที่ผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยและกำไรบจ.ค่อนข้างจำกัด เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่ยังสูง สะท้อนจากมูลค่าเงินฝากของไทย ณ สิ้นเดือน ม.ค.64 อยู่ที่ 15.72 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าในภาวะดอกเบี้ยต่ำมีโอกาสที่เงินในระบบจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเพื่อแสดงหาผลประโยชน์ (Search for Yield)

“เราเริ่มเห็นเงินเคลื่อนย้ายเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น จากจำนวนการเปิดบัญชีหุ้นใหม่ที่ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดในเดือน ก.พ.เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 แสนบัญชีต่อเดือน สูงกว่าการเปิดบัญชีใหม่ในอดีตถึง 8 เท่า รวมถึงมีเม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 10% ในช่วง 2 เดือนแรก ภาวะการ Search for Yield ที่เพิ่มขึ้นแบบนี้จะเป็นแรงพยุงตลาดหุ้นในช่วงที่ปรับฐานลงจากประเด็นโควิด-19” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

ส่วนทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของเดือน เม.ย.คาดว่าจะเห็นแรงเก็งกำไรหุ้นปันผลก่อนการขึ้นเครื่องหมาย XD (ไม่ได้รับเงินปันผล) ทำให้ตลาดหุ้นในเดือน เม.ย.จะปรับตัวขึ้นโดดเด่น (Outperform) ประมาณ 3.1% ตามสถิติย้อนหลัง 10 ปี โดยการลงทุนแนะนำหุ้นมูลค่า (Valuation) ไม่แพงและมีปัจจัยบวกสนับสนุน โดยคงเป้าดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,670 จุด