จากเริ่มติด 'โควิด-19' สู่การไป 'รพ.สนาม' ต้องเตรียมตัวยังไง?

จากเริ่มติด 'โควิด-19' สู่การไป 'รพ.สนาม' ต้องเตรียมตัวยังไง?

ข้อควรปฏิบัติตั้งแต่รู้ว่าตนเองติด "โควิด-19" จนถึงการรวบรวมสิ่งของส่วนตัว ที่ต้องใช้เมื่อย้ายไปอยู่ "รพ.สนาม" ตามกระบวนการของภาครัฐนั้น เราต้องเตรียมอะไรบ้าง? รู้ไว้ไม่เสียหาย

การกลับมาของการระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 เดือนเมษายน 2564 มีสถานการณ์ระบาดเชื้อเป็นวงกว้างมากขึ้น รวมถึงเชื้อยังมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อังกฤษ และส่งผลต่อร่างกายรุนแรงกว่าเดิม วันนี้ (20 เม.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงถึง 1,443 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย 

ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูง และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากขึ้น ส่งผลให้การรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นกลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลทั้งเรื่องจำนวนเตียงไม่พอ โรงพยาบาลไม่รับตรวจ และ ปัญหาเรื่อง รพ. สนาม 

ทั้งนี้ข้อมูลการปฏิบัติตัวหลังติดโควิด ยังกลายเป็นปัญหาคาใจใครหลายคน เนื่องจากข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มีอย่างหลากหลาย และหลายแหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจจึงรวบรวมขั้นตอนสำคัญต่างๆ ตั้งแต่การปฏิบัติตัวหลังจากรู้ว่าตนเองติดโควิด การประสานงานเพื่อทำการรักษา รวมถึงสิ่งของที่ต้องเตรียมไปทำการรักษา และกักตัวนั้นมีอะไรบ้าง? 

  • หลังรู้ว่าติดโควิดต้องทำอย่างไร 

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน แนะนำ 8 ขั้นตอนปฏิบัติดังนี้ 

1. เตรียมเอกสารที่ต้องใช้

  • บัตรประชาชน 
  • ผลตรวจโควิด-19 

2. แจ้งเบอร์โทรศัพท์ของตนกับหน่วยงานที่รับเรื่องเพื่อเข้ารับการรักษา 

  • โทร 1330 สปสช
  • โทร 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. 
  • โทร 1668 กรมการแพทย์ 

3. งดออกจากที่พัก หรือเดินทางข้ามจังหวัด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด พ.ร.บ. โรคติดต่อ .. 2558 มาตรา 34 

4. งดใกล้ชิดครอบครัว และผู้อื่น 

5. แยกห้องน้ำ (ถ้าทำได้)

6.ในกรณีที่มีไข้ ให้รับประทานยาพารา และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ 

7. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

8. แยกของใช้ส่วนตัว 

161892085082

  • เลือกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโควิดอย่างไร 

ปัจจุบันการคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแบ่งระดับอาการผู้ป่วยว่า ได้มีการแบ่งระดับอาการผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง ดังนี้

กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ ไม่มีโรคร่วม อาการดีหมด จะส่งไปยังรพ.สนาม หรือฮอสพิเทล โดยจะถูกดูแลโดยกรมการแพทย์ 

กลุ่มสีเหลือง คือ มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000

กลุ่มสีแดง คือ มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง

ทั้งนี้เตียงผู้สำหรับการรักษาตัวมี 4  ส่วน คือ 1. เตียงของรพ.เอกชน 2. เตียงของรพ.ในสังกัดกทม. 3.เตียงของรพ.สังกัดกรมการแพทย์ 4.เตียงในรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย

โดยเมื่อแจ้งทางสายด่วนแล้วจะมีการจัดสถานที่รักษาตัวให้อย่างตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วย

161892098574

  • สิ่งของที่ต้องเตรียมตัวเข้าพักรักษาตัว 

กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่า การเข้าพักรักษาตัวในรพ.สนาม หรือโรงพยาบาลนั้นมีความต่างกันไม่มาก โดยจะเน้นไปที่ข้อปฏิบัติของโรงพยาบาลสนาม แบ่งเป็นข้อปฏิบัติต่างๆ ดังนี้ 

1. จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเอง 

ช้อน ส้อม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว และชุดเสื้อผ้าตามความเหมาะสม (ทางโรงพยาบาลสนามบางแห่งมีชุดการเตรียมชุดไว้ให้ อาจจะเตรียมแต่ชุดขากลับเท่านั้น)

2. สิ่งที่ห้ามนำเข้าที่พัก 

ทรัพย์สินมีค่า อุปกรณ์การเล่นพนัน บุหรี่ สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาวุธ ของมีคม 

3. ห้ามนำอาหาร และเครื่องดื่มทุกชนิดเข้ามาในที่พัก 

4. .ให้พักในอาคารตลอดเวลา และไม่ให้ออกจากที่พัก 

5. ห้ามย้าย สลับ หรือแลกเตียง 

6. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาบน้ำ และเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน 

7. ทิ้งขยะในที่ที่จัดวางไว้ให้ และปิดฝาทุกครั้ง 

8. งดรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงพูดคุยใกล้ชิด หรือจับกลุ่มทำกิจกรรม

9. ร่วมกันทำความสะอาด

10. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่นมีไข้สูง ไอมากขึ้น เหนื่อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ 

161892104797

-----------------------------

ที่มา : กรมควบคุมโรค