ทำไมจึงต้องมี รพ.สนาม ฮอสพิเทล เตียงไม่พอจริงหรือ ?

ทำไมจึงต้องมี รพ.สนาม ฮอสพิเทล เตียงไม่พอจริงหรือ ?

จากที่ สธ. และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างเร่งจัดตั้ง "รพ.สนาม" และ "ฮอสพิเทล" เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่มขี้นอย่างรวดเร็ว หลายคนเกิดความกังวลว่า มีเตียงไม่เพียงพอหรือไม่ ?

วานนี้ (19 เมษายน 2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงกรณีการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า คนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาลไม่ได้เท่ากับเตียงไม่พอ แต่ประเด็นปัญหา คือ 1.ไปตรวจโควิดในแล็ปเอกชน และตรวจเสร็จให้ไปรอที่บ้าน เมื่อโทรแจ้งผลบวก แต่แล็ปไม่มีเตียงรพ. รองรับในการนอนรักษาไม่ได้ 2.รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง 3. การค้นหาเชิงรุกไปตรวจเชื้อ และให้กลับบ้าน เมื่อเจอเชื้อก็หาเตียงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายขณะนี้ คือ ผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องได้รับการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยม โทรสอบถามอาการทุกวัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย

ข้อมูลเตรียมเตียงพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 เมย.64 พบว่า โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด สธ. สังกัดกองทัพ รพ.มหาวิทยาลัย และ รพ.เอกชน มีเตียงรองรับ 6,457 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 4,514 เตียง ยังว่าง 1,943 เตียง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 

การจัดหา “รพ.สนาม” และ “ฮอสปพิเทล” (Hospitel) หรือโรงแรมที่ไม่มีผู้พักอาศัยมาทำเป็น รพ.ชั่วคราว เพื่อใช้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งทางออกเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น   

ปัจจุบันมี “เตียงสนาม” 1,156 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 813 เตียง ว่าง 343 เตียง ด้าน “ฮอสพิเทล” 1,704 เตียง ครองเตียงแล้ว 967 เตียง เตียงว่าง 737 เตียง รวมจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาล รพ.สนาม และฮอสพิเทล ทั้งหมด 9,317 เตียง ครองเตียงทั้งหมด 6,294 เตียง และเตียงว่าง 3,023 เตียง ) 

  • รพ.สนาม กทม. มีเท่าไหร่

“กรุงเทพมหานคร” ถือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ได้มีแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพรพ.ในสังกัดกทม.และนอกสังกัด ให้รองรับผู้ป่วยโควิดได้มากขึ้น ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้ ระดับที่ 3 จัดทำ รพ.สนาม เต็มรูปแบบเพื่อรองรับผู้ป่วย 

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบัน มีรพ.สนามรองรับผู้ป่วยโควิด ได้แก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า 86 เตียง , รพ.สนามชั่วคราว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 200 เตียง , เอราวัณ 1 สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน 200 เตียง  , รพ.ราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง , ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 470 เตียง , รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน 500 เตียง (เปิดเพิ่มอีก 500 เตียง) , เอราวัณ 2 ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก 400 เตียง (เปิด 20 เม.ย. 64) และ ปตอ.1 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (แจ้งวัฒนะ) 200 เตียง (เปิด 20 เม.ย.64)  รวมทั้งหมด 2,756 เตียง พร้อมกันนี้ ยังเตรียมเปิด รพ.สนาม ที่กองยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี 50 เตียง  และ ร.ร.การบิน กำแพงแสน จ.นครปฐม จำนวน 120 เตียง 

“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แนะว่า ผู้ป่วยที่จะเข้ารักษา ณ รพ.สนาม ขอให้เตรียมพร้อมสิ่งที่จำเป็นสำหรับการมาอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน และอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ยารักษาโรคประจำตัว รวมทั้งข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม(ถ้ามี) โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ ใช้สำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไลน์ ในการติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม และสามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : จนท.ปรับเปลี่ยน บางกอก อารีน่า เป็นโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2

  • รพ.สนาม สังกัด อว. 12,822 เตียง

ขณะที่ มหาวิทยาลัยและ รร.แพทย์ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียม รพ.สนาม เพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กระจายทุกจุดทั่วประเทศ ขึ้นอีก 14 แห่ง และ รพ.สนาม เดิมได้เพิ่มเตียง 1 แห่ง รวมมีจำนวนเพิ่ม 6,490 เตียง ทำให้ขณะนี้ มี รพ. สนาม สังกัด อว. อยู่ทั่วประเทศ รวม 37 แห่ง 12,822 เตียง

“กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จ.นนทบุรี 40 เตียง , องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี จ.ปทุมธานี 70 เตียง , สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เทคโนธานี จ.ปทุมธานี 20 เตียง , โรงยิมเนเซี่ยมศูนย์ฝึกอบรม เทคโนธานี จ.ปทุมธานี 60 เตียง “ภาคกลาง” ม.ศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ จ.นครนายก ที่ รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 300 เตียง

“ภาคเหนือ” ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ 1,000 เตียง 

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ม.มหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ 300 เตียง , ม.ราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 60 เตียง , ม.ราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่ หอพักนักศึกษาในเมือง เตรียมไว้เป็นสถานที่กักตัว จำนวน 3,000 เตียง , หอพักนักศึกษา วิทยาเขตสามพร้าว จำนวน 500 เตียง , หอพักนักศึกษา วิทยาเขตบึงกาฬ จำนวน 186 เตียง และอาคารอเนกประสงค์ วิทยาเขตบึงกาฬ จำนวน 50 เตียง

“ภาคใต้” ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช 100 เตียง , ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 70 เตียง , ม.นราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ที่ รพ.กัลยาณิวัฒนาการุณย์ 30 เตียง และโรงยิมเนเซี่ยมของมหาวิทยาลัยฯ 50 เตียง , ม.ราชภัฏยะลา จ.ยะลา ที่ โรงเรียนการศึกษาพิเศษ 60 เตียง และ อาคารกิจกรรมนักศึกษา จำนวน 200 เตียง , ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ 144 เตียง

“ภาคตะวันออก” ม.ราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า 200 เตียง อาคาร 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า 50 เตียง และสัมมนาคาร บางปะกงปาร์ค บางคล้า สำหรับเป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง จำนวน 30 ห้อง

ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มและลดจำนวนเตียง ตลอดจนเตรียมพร้อมเพียงสถานที่ ได้แก่ 1. ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 470 เตียง 2. ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ที่รพ.พุทธชินราช บึงแก่นใหญ่ เพิ่มจาก 40 เตียง เป็น 100 เตียง 3. ม.ราชภัฏลำปาง 800 เตียง 4. ม.ทักษิณ จ.สงขลา ที่สำนักส่งเสริมบริการวิชาการและภูมิปัญญาพนางตุง ลดจาก 500 เตียง เหลือ 350 เตียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'อว.'ลุยเปิด รพ.สนาม ช่วงสงกรานต์เพิ่ม 6,490 เตียง รับวิกฤติโควิดทั่วประเทศ

161889279021

  • กลุ่มใดบ้างที่ต้องไป รพ.สนาม

“พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ” ที่ปรึกษากรมการแพทย์ อธิบายว่า ก่อนเข้า รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล จะได้รับการตรวจ ซักประวัติ เอกซเรย์ปอด หากผลการเอกซเรย์ปอด มีข้อสงสัยว่าปอดจะอักเสบ จะได้อยู่โรงพยาบาล ขณะที่ กลุ่มที่ต้องอยู่ รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล หลักๆ คือ อาการไม่หนัก อายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่ผู้พิการ และสามารถดูแลตัวเองได้

"กลุ่มคนพิการ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกส่งไป “รพ.สนาม” หรือ “ฮอสพิเทล” ทั้งนี้ “รพ.สนาม” และ “ฮอสพิเทล” ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แยก จะเป็นการพิจารณาว่าที่ไหนมีเตียงว่าง เป็นไปตามการจัดสรร ลงเตียง สิ่งแรก คืออยากให้เข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ลดการระบาด" พญ.ปฐมพร กล่าว

ขณะที่ภาคเอกชน อย่าง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” จัดงบ 200 ล้านบาท สนับสนุน รพ.สนาม ของรพ.ต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และเสริมอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาด โดยเริ่มต้นที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อยอดไปยัง รพ.อื่นๆ อาทิ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.ตำรวจ รพ.ของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เป็นต้น พร้อมจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ ให้กับรพ.สนามของรพ.จุฬาลงกรณ์ฯ รวมถึงฮอสพิเทล อีก 4 แห่งในความรับผิดชอบของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ และให้กลุ่มทรูจัดไวไฟบริการฟรีในรพ.สนามของจุฬาลงกรณ์ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง