"วัคซีนโควิดทางเลือก" ติดล็อกเงื่อนไขผู้ผลิต-เวลา

"วัคซีนโควิดทางเลือก" ติดล็อกเงื่อนไขผู้ผลิต-เวลา

นายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางจัดหา"วัคซีนทางเลือก" ให้รพ.เอกชน นำมาบริการให้คนมีกำลังจ่ายเงินเองราว 10 ล้านโดส โอกาสที่จะมาถึงไทยเร็วกว่า"วัคซีนฟรี"บิ๊กล็อตในเดือนมิ.ย.นั้น แทบเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่จะมี "ซูเปอร์ดีล"

นั่นเพราะขณะนี้ "วัคซีนโควิด19ยังไม่ใช่สินค้าทั่วไป"!!

ปัจจุบันมี"วัคซีนโควิด19"จำนวน 13 ชนิด ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของแต่ลประเทศ พิจารณาจากผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ให้สามารถใช้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆได้ และมี 3 ชนิดที่ได้รับการรับรอง(Emergency Use Listing :EUL) จากองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจากEUL โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญของWHO คือ “วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” “วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค” และ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”

สิ่งที่เป็นปัญหาติดขัดสำคัญของการนำเข้าวัคซีนโควิด19ของเอกชน "ไม่ได้อยู่ที่รัฐผูกขาดการนำเข้า" แต่อยู่ที่"ผู้ผลิตวัคซีน"ยังมีข้อกำหนดขายให้ผ่านรัฐเท่านั้น!

     เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก"วัคซีนโควิด 19"ยังไม่ใช่สินค้าปกติในช่วงเวลานี้ โดยวัคซีนทุกชนิดทุกยี่ห้อที่ผ่านการอนุมัติในตอนนี้ "ล้วนเป็นการให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น" เพราะการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด19 ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ปีก็นำออกมาใช้ทั้งที่โดยทั่วไปต้องใช้เวลาวิจัยนานกว่านั้น

   รวมถึง รัฐบาลที่ต้องการซื้อวัคซีนโควิด19 จะต้องยอมรับก่อนนั่นคือ "จะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกค่าความเสียหายจากบริษัท หากมีผลข้างเคียงใดเกิดขึ้น"!!!

"การอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด19ในทั่วโลก ขณะนี้ยังเป็นการให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตจึงต้องการขายให้รัฐเท่านั้น ยังไม่เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่เมื่อ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา

ภารกิจสำคัญของคณะทำงานฯที่มีศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน รวมถึง ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ผู้แทนรพ.เอกชนและผู้เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน จึงเป็นการ "หาช่อง" ปลดล็อกข้อจำกัดของบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เอกชนไทยนำเข้า"วัคซีนทางเลือก" โดยน่าจะมีการประชุมนัดแรก 20เม.ย.นี้
161888166117
แนวทางที่เคยมีการพูดถึงในวงประชุมก่อนหน้านี้ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เชิญผู้แทนรพ.เอกชนมาชี้แจงถึงแนวทางที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนได้ คือ

1.รัฐออกเอกสารรับรองให้ภาคเอกชนในนามของรัฐ เพื่อนำไปยื่นเป็นหลักฐานกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายที่หมายตาไว้ว่า "เอกชนนำเข้าภายใต้รัฐ" แล้วภาคเอกชนก็เจรจานำเข้าวัคซีนกับบริษัทนั้นโดยตรง

หากใช้ช่องทางนี้ แล้วกรณีที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นจากการรับวัคซีนนั้น "ใคร"จะเป็นผู้ชดเชยเยียวยาให้กับผู้รับ รัฐหรือเอกชน? ซึ่งในกรณี"วัคซีนฟรี"ที่จัดหาโดยรัฐนั้น รัฐจะเป็นผู้ชดเชยเยียวยา ในอัตราตามข้อกำหนดของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วกรณีฉีดวัคซีนทางเลือกกับเอกชนั้น รัฐหรือเอกชนจ่าย หรือผู้รับต้องเซ็นต์"ยินยอมไม่เรียกร้อง"

และ2.ให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ในฐานะหน่วยงานของรัฐเป็น"นายหน้า"นำเข้าวัคซีนตามแต่ที่เจรจาได้ แล้วมาขายต่อให้ภาคเอกชน

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อรัฐสามารถนำเข้ามาได้เองโดยอภ. ทำไมไม่นำมาฉีดฟรี!ให้คนไทยเหมือนกับ"วัคซีนซิโนแวค"ที่อภ.ก็เป็นผู้นำเข้า ยิ่งเท่ากับเป็นการเพิ่ม"ทางเลือก"ให้คนไทย ที่จะได้รับวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายที่กรมควบคุมโรคกำหนด ในเมื่อหนึ่งในเป้าหมายคือ "พื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ"อยู่ด้วยแล้ว

เอกชนไม่นำวัคซีนมายื่นขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ หากคณะทำงานฯดังกล่าวหาช่องแนวทางช่วยปลดล็อกเงื่อนไขจากผู้ผลิตให้ภาคเอกชนได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมา คือ "วัคซีนทางเลือกนี้จะเป็นยี่ห้ออะไร และจะนำเข้ามาได้เมื่อไหร่"???

คำตอบจะได้"ยี่ห้อ"อะไร คือ เป็นไปได้ทุกยี่ห้อที่ภาคเอกชนจะไปเจรจามาได้ แต่จะต้องนำพามาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยก่อน 

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า ที่ผ่านมามีผู้มา "หารือ"เกี่ยวกับการนำเข้าและขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 จำนวน 14 ราย โดย3 ราย ยื่นเอกสารและได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด/ วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม /วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด อีก 1 ราย ยื่นเอกสารแล้วอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน คือ วัคซีนของบารัต โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด แต่บริษัทยังยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ที่เหลือ 10 ราย ยังไม่มีการมายื่นเอกสาร เพื่อขอขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

"กรณีผู้บริหารภาคเอกชนที่ให้ข้อมูลว่าได้ยื่นขอนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เมื่อ 6 เดือนก่อน และยังไม่ได้รับอนุมัติจาก อย. นั้น ไม่เป็นความจริง"นพ.สุรโชค กล่าว

เอกชนนำเข้าได้ไม่เร็วกว่ารัฐ

       ส่วนประเด็นจะได้วัคซีนทางเลือกเมื่อไหร่ ? นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เล่าย้อนว่า เดิมกฎหมายประเทศไทย ไม่อนุญาตให้สถาบันฯจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ยังไม่มีตัวสินค้า ทำให้ไม่สามารถไปจองซื้อวัคซีนด้วยการสนับสนุนงบประมาณของรัฐให้ไปในช่วงของการวิจัยพัฒนาวัคซีนแต่ละตัวได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้สูง มีการจองวัคซีนและให้เงินตั้งแต่ขั้นการวิจัย ยังไม่มีของ 

       กระทั่ง มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019หรือโรคโควิด 19 ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ.2563 ซึ่งทำให้สถาบันวัคซีนฯสามารถจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ในขั้นของการวิจัยพัฒนา ที่อาจมีโอกาสจะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนได้ โดยเสนอครม.พิจารณา

หลังจากประเทศไทยปลดล็อกกฎหมายภายในประเทศส่วนนี้เสร็จ นพ.นคร บอกว่า เมื่อมีการเจรจากับบริษัทผู้วิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนหลากหลายบริษัทที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว เพื่อจองซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 ได้รับคำตอบจะส่งมอบให้ได้เร็วที่สุดในช่วงไตรมาส3-4 ปี 2564 และเป็นการจองแบบที่ "ได้แต่ตัวเลข ยังไม่มีตัววัคซีน" โดยไฟเซอร์บอกว่าจะส่งได้เร็วสุดไตรมาส3-4 ปี 2564 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันเร็วสุดไตรมาส 4 ปี 2564 ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบได้ในเดือนมิ.ย.2564 และซิโนแวคทยอยส่งมอบได้ในเดือนก.พ.2564 และขายให้ได้แค่ 2 ล้านโดส 

"ถ้าจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า แล้วได้รับของในปลายปี 2564 แล้วเกิดข้างหน้าระหว่างเวลาที่ยังไม่มีการส่งมอบ ไวรัสกลายพันธุ์จะทำอย่างไร สมมติสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า และจะส่งมอบในต.ค.-ธ.ค.2564 ราว 1 ปีหลังจากสั่งซื้อ แต่วัคซีนนั้นเป็นรุ่น 1 แต่ช่วงเวลาที่รับมอบวัคซีนนั้น ไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว วัคซีนนั้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว"นพ.นครกล่าว 

     นพ.นคร กล่าวด้วยว่า คณะทำงานฯเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกที่นายกฯตั้งขึ้นที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลจริงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าขณะนี้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กำลังเจรนากับโมเดอร์นาเพื่อสั่งซื้อ เบื้องต้นบริษัทแจ้งว่าจะพยายามหาให้ได้ประมาณ 5 ล้านโดส แต่จะไม่ได้ส่งให้พร้อมกันทั้งหมด จะทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป แต่ทั้งหมดยังไม่มีการยืนยัน อยู่ระหว่างการเจรจาของอภ.

161888192697

       อนึ่ง จากการรวบรวมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ระบุว่า ทั่วโลกมีการจองวัคซีนโควิด 19แล้ว 9,600 ล้านโดส วัคซีนที่ได้รับการจองมากที่สุด 10 อันดับแรก คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/อ็อกฟอร์ด 3,009 ล้านโดส รองลงมาโนวาแว็กซ์ 1,404 ล้านโดส ไฟเซอร์ 1,220 ล้านโดส โมเดอร์นา 816 ล้านโดส กามาเลยา 765 ล้านโดส ซาโนฟี/จีเอสเค 712 ล้านโดส จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 368 ล้านโดส ซิโนแวค 367 ล้านโดส เคียวแวค 275 ล้านโดส และซิโนฟาร์ม 230 ล้านโดส 

10 ประเทศที่มียอดการจองวัคซีนจำนวนมากที่สุด ได้แก่  1.อินเดีย 2,200 ล้านโดส 2.สหรัฐอเมริกา 1,210 ล้านโดส 3.สหราชอาณาจักร 417 ล้านดดส 4.ญี่ปุ่น 314 ล้านโดส5.อินโดนีเซีย 301 ล้านโดส 6.บราซิล 300 ล้านโดส 7.จีน 300 ล้านโดส 8.แคนาดา 238 ล้านโดส9.เม็กซิโก 210ล้านโดส และ10.รัสเซีย 160 ล้านโดส ส่วนประเทศไทยมียอดจองซื้ออยู่ที่ 63 ล้านโดส 

ฉะนั้นแล้ว ก่อนที่จะจอง"วัคซีนทางเลือก"กับรพ.ใดที่จะเปิดให้จองในอนาคต จะต้องประเมินใน 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.เวลาที่จะได้วัคซีนนั้น "เร็วกว่า"วัคซีนฟรีที่เราจะได้รับจากรัฐจัดหรือไม่ เพราะจากการเจรจาในนามรัฐตั้งแต่ปี2563 ยังได้รับเร็วสุดกลางปี 2564 และ2.ยี่ห้อวัคซีน แตกต่างจากยี่ห้อที่รัฐจัดให้ฟรีแล้วหรือไม่ เป็นยี่ห้อที่เราต้องการหรือไม่ วัคซีนนั้นใช้รูปแบบผลิตใด และประสิทธิผลประสิทธิภาพวัคซีนเป็นอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น  วัคซีนรูปแบบ “ไวรัล แว็กเตอร์”หรือไวรัสเป็นพาหะ อาทิ “แอสตร้าเซนเนก้า” “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” “สปุตนิก วี” “คานซิโนไบโอ” จะมีความต่างกันตรงที่ไวรัสพาหะตัวนำ  แอสตร้าเซนเนก้าใช้อะดิโนไวรัสของชิมแพนซี ซึ่งในคนจะไม่มีตัวนี้เหมือนในลิงแน่นอน ส่วนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สปุตนิกวี  และคานซิโนไบโอใช้อะดิโนไวรัสของคน โดยหากคนไทยมีภูมิคุ้มกันดั้งเดิมต่อตัวอะดิโนไวรัสของคนตัวนี้อยู่แล้ว อาจจะทำให้วัคซีนได้ผลไม่ดีนัก 

รพ.เอกชนจะเปิดให้คนไทย"จองวัคซีนโควิด19ล่วงหน้าโดยที่ยังไม่มีของนั้น ทำไม่ได้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ย้ำว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและตัววัคซีน หากมีการไปโฆษณาเชิญชวนก่อนจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง บางกรณีถ้าไปเรียกเงินมัดจำจากประชาชนด้วย เหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้โดยที่ยังไม่มีบริการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องดูข้อมูลให้ดีและละเอียด เพราะขณะนี้มีรพ.เอกชนหลายแห่ง ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐในการฉีดวัคซีนฟรี

      ที่สุดคงต้องอยู่ที่คณะทำงานฯว่าจะหาแนวทางช่วยเอกชนอย่างไร ให้สามารถนำเข้าวัคซีนได้ ไม่ติดล็อกเงื่อนไขของผู้ผลิต