เปิด 4 ข้อเสนอ ส.อ.ท.หนุนรัฐเพิ่มจำนวนวัคซีน

เปิด 4 ข้อเสนอ ส.อ.ท.หนุนรัฐเพิ่มจำนวนวัคซีน

ส.อ.ท.เตรียมยื่นข้อเสนอ 4 แนวทาง หนุนภาครัฐเพิ่มวัคซีนโควิด พร้อมช่วยเหลือภาครัฐกระจายวัคซีน พัฒนาแพลตฟอร์มยืนยันตัวตนการฉีด สร้างความเชื่อมั่นให้ร้านค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ส.อ.ท.ได้หารือคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.และมีข้อสรุปพร้อมช่วยรัฐบาลด้านวัคซีนเต็มที่ โดยเน้น 4 เรื่อง คือ

1.การเพิ่มจำนวนวัคซีน ซึ่งจะผลักดันให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น

2.วิธีการฉีดวัคซีน ส.อ.ท.จะทำแพลตฟอร์มและวีดีทัศน์สอนการฉีดวัตซีนที่ถูกต้องแบบออนไลน์ เพื่อสร้างบุคลากรการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ เช่น การนำนักศึกษาแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลมาช่วยฉีดวัคซีน

3.การกระจายวัคซีน โดยได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อประสานโรงงานและสถานประกอบการในพื้นที่เป็นจุดกระจายฉีดวัคซีน เพื่อเข้าให้ถึงชุมชนทั่วประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีด

4.การสร้างความเชื่อมั่นหลังฉีดวัคซีน ส.อ.ท.จะทำแพลตฟอร์มบนมือถือ เพื่อแสดงยืนยันการฉีดวัคซีน และสนับสนุนการจัดทำเอกสารป้องก้นการปลอมแปลงเพื่อยืนยันการฉีดวัคซีน ซึ่งกรณีร้านอาหารหรือสถานที่ทั่วไปก็แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนบนมือถือ แต่หากบางสถานที่มีความเข้มงวดหรือการไปต่างประเทศจะมีเอกสารที่ป้องกันการปลอมแปลงยืนยัน เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และทุกธุรกิจเดินหน้าได้

นอกจากนี้ ในช่วงเย็นวันที่ 19 เม.ย.2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประชุมร่วมระหว่างกรรมการหอการค้าไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทใหญ่ของไทย กว่า 40 บริษัท จากทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น กลูเกิ้ล เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอบีเอ็ม กลุ่มธนาคาร ยูนิลีเวอร์ ธุรกิจโรงแรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

เพื่อหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจเหล่านี้อย่างไร ซึ่งประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้วางแผนงานที่วางไว้สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนั้นได้วางแนวทางไว้ คือ

1.ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุน สถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับกรุงเทพมหานคร

2.ทีมการสื่อสาร เพื่อให้เข้าใจและมาฉีดวัคซีนในที่ๆพร้อม

3.ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็วและมีการติดตามตัว พร้อมออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้

4.ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ที่จะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น