‘บลูโอเชี่ยนฯ’ แจ้งเกิด ‘วีอาร์’ เครื่องมือเพื่อธุรกิจ

‘บลูโอเชี่ยนฯ’ แจ้งเกิด ‘วีอาร์’ เครื่องมือเพื่อธุรกิจ

“บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี” สตาร์ทอัพพันธุ์ไทยขึ้นทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ Virtual Reality : VR โดยใช้เป็นเครื่องมือสำหรับภาคธุรกิจที่ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงอย่างวีดิโอเกม ประเดิมด้วยสองผลิตภัณฑ์เด่นที่ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก

และติดตลาดอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมวีอาร์คือ VR Real.Estate เครื่องมืออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และ VR SIM.Training ระบบฝึกอบรมสถานการณ์จำลองด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน

โลกจำลองปลอดภัยด้วยสองมือ

161883271771

เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด มองเห็นปัญหาการฝึกอบรมพนักงานขับรถทางการเกษตร ที่ไม่สามารถทำการฝึกในสถานที่จริง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรถ ผลผลิตและต้นทุนที่สูง อีกทั้งแรงงานหนึ่งคนจะฝึกขับรถทางการเกษตร เช่น รถตัดอ้อยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ถึงจะสามารถขับรถได้ จึงเป็นเหตุผลให้เขาต้องการที่จะพัฒนาระบบฝึกอบรม ผ่านเทคโนโลยีวีอาร์ที่สามารถใช้มือจริงจับพวงมาลัยและคันโยกในโลกเสมือนจริงได้ รวมถึงระบบฝึกอบรมและซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้ครอบคลุมการใช้งานในอุตสาหกรรม ก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ  ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้มากขึ้น

“ระบบถูกออกแบบให้สามารถทำงานพื้นฐานจำลองการฝึกอบรมในสถานการณ์ต่างๆ เช่นการฝึกควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน โดยระบบใช้เทคโนโลยี VR + Hand Tracking + Embedded Software ที่ต่อกับชิ้นส่วนของเครื่องจักรจริง เพื่อควบคุมภาพที่จะเห็นในโลกเสมือนจริงให้ใกล้เคียงมากที่สุด ข้อดีคือผู้ใช้งานจะได้ประสบการณ์เหมือนฝึกอบรมจริง และสร้างสถานการณ์จำลองที่หลากหลายเพื่อเพิ่มทักษะหลายรูปแบบ”

161883290979

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นยังสามารถมองเห็นเหมือนจริงได้ 360 องศา ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ 3 มิติ โดยใช้เวลาพัฒนาระบบ 6-12 เดือนสำหรับรองรับการอบรม 2 กลุ่ม คือภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานควบคุมเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อน สำหรับจุดเด่นของเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้น คือ การฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องต้นทุน ความปลอดภัย และการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ โรงงานอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร

แพลตฟอร์ม  VR SIM.Training ยังสามารถขยายการใช้งานสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการใช้จริงแล้วกับโรงงานทั้ง 10 แห่ง มีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 700 คนทั่วประเทศ เช่น สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการฝึกอนุรักษ์พลังงานในโรงงานโดยใช้วีอาร์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการสำรวจโรงงานเบื้องต้นเพื่อหาแนวทางการประหยัดพลังงาน  

ขณะเดียวกันวางแผนที่จะขยายสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ ผ่านการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาครัฐในการใช้ประกอบการเรียนการสอนบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีงานวิจัยสนับสนุน

ผนึกภาครัฐขยายการเข้าถึงลูกค้า

161883275659

ส่วนบิซิเนสโมเดลของบริษัทเรียกว่าเป็น total solution provider ดำเนินการพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์และจัดหาฮาร์ดแวร์ต่างๆ ให้กับลูกค้า บนฐานเทคโนโลยีเสมือนจริงของบริษัทในการพัฒนา  แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการพัฒนาซอฟต์แวร์ และอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังเร่งพัฒนาคือ แพลตฟอร์มสำเร็จรูปที่ให้ผู้ใช้งานสามารถนำ 3D Content อย่าง BIM นำขึ้นระบบและใช้งานเทคโนโลยีวีอาร์ได้ทันที ตอบโจทย์ในเรื่องความยืดหยุ่นของการใช้งาน คาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2564

ทั้งนี้ Revenue Model จะเป็นทั้งค่าใช้จ่ายคิดตามโครงการ หรือเป็น subscription fee ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน และเมื่อถามถึงความท้าทาย เพิ่มพงศ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมาราคาอุปกรณ์ยังคงสูงถึงหลักแสนบาท จึงทำให้ผู้ใช้มีความลังเลในการตัดสินใจซื้อ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีราคาถูกลงมากขึ้น มีการผลิตแว่นวีอาร์รุ่นใหม่ ให้ความสมจริงในราคาเพียงหลักหมื่น ทำให้สามารถกระจายสู่สเกลแมสได้ง่ายขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสให้บริษัท ส่วนข้อจำกัดอาจจะมีในการประยุกต์องค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้ากับเทคโนโลยีเสมือนจริง ซึ่งตรงจุดนี้ทางบริษัทจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เดินสายล่ารางวัลการันตีผลงาน

“ช่องทางการจำหน่ายเน้นออฟไลน์เป็นหลัก เนื่องจากยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือนิชมาร์เก็ต ดังนั้น การเข้าถึงลูกค้ามองว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ พยายามสร้างมุมมองใหม่ๆให้กับลูกค้า และประกวดในเวทีต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อเป็นการการันตีผลงาน รวมถึงการวางตำแหน่งของแบรนด์ให้เป็น First Mover ในตลาด ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดพยายามเข้าไปดีลกับภาครัฐในการสนับสนุน ต่อยอดสู่การผนึกพาร์ทเนอร์บริษัทขนาดใหญ่เชื่อมสู่ลูกค้ารายอื่นๆ”

161883287276

ทั้งนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมวีอาร์ แม้ตลาดใหญ่แต่มีผู้เล่นน้อยราย บลูโอเชี่ยนฯจึงเป็นเจ้าแรกๆ ที่กระโดดเข้ามาในส่วนของ VR for Business ตอนนี้เริ่มมีผู้เล่นรายอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกมเริ่มเข้ามา นับว่าเป็นข้อดีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ว่ามียูสเคสหลากหลาย

ส่วนในอนาคตเขาวางแผนนำวีอาร์ไปผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ไอโอที ที่จะช่วยให้สัมผัสอุปกรณ์ของเครื่องจักรจริง ทั้งเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งที่จะเข้ามาช่วยหาและแนะนำรูปแบบการฝึกอบรมที่ดีที่สุด

VR SIM.Training การันตีด้วยผลงานรางวัลเหรียญทอง ประเภท Digital Content (DLC) ในการแข่งขัน ASEAN ICT Awards 2018 จัดขึ้นโดยกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ อินโดนีเซีย ที่สนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย