‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ อาสา'อาเซียน'หยุดนองเลือดเมียนมา

‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ อาสา'อาเซียน'หยุดนองเลือดเมียนมา

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) เรียกร้องประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เจรจากับเอ็นยูจี ถ้าหากอาเซียนต้องการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในเมียนมา และไม่ควรยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ

“เมียว ซอ อู” รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเมียนมา ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กล่าวในวันอาทิตย์ (18 เม.ย.)ว่า

10 ประเทศสมาชิกอาเซียนพยายามหาทางออกวิกฤตการณ์นองเลือดผู้ประท้วงเมียนมา ตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศไปจากรัฐบาลนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา

"หากอาเซียนจะดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการในประเทศ บอกได้เลยว่า ไม่สำเร็จ ยกเว้นแต่จะเจรจากับเอ็นยูจี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และมีความชอบธรรมอย่างสมบูรณ์แบบ" เมียว ซอ อู ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ วอยซ์ ออฟ อเมริกา

ท่าทีในตอนนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความเต็มใจเพียงเล็กน้อยที่จะหารือกับอาเซียนเพื่อหาทางออกถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววจะต้องการเจรจากับรัฐบาลซูจี

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาจะร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย.นี้

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศ และการพบปะกับผู้นำต่างชาติครั้งแรก นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ได้เรียกร้องให้นานาชาติยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย และขอให้เชิญเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งเป็นเวทีเดียวกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายอีกด้วย

ส่วนรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการประชุมหรือไม่ โดยอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเพียงว่า ยังไม่มีการเปิดเผยวาระการประชุมและอยู่ระหว่างรอรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ นักการเมืองฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึง ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี ประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยตั้งให้นางซู จีที่ยังคงถูกคุมขัง แกนนำการประท้วง และแกนนำชนกลุ่มน้อยอยู่ในรัฐบาลชุดนี้

สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (เอเอพีพี) กล่าวว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงได้สังหารประชาชนเมียนมาไปแล้วอย่างน้อย 730 คน เพื่อยุติความเคลื่อนไหวทางการเมือง

ท่ามกลางเสียงประณามจากประเทศตะวันตก และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจากเพื่อนบ้านในภูมิภาค แม้ว่าอาเซียนจะมีหลักการจะไม่แทรกแซงกิจการภายในกันและกัน

การพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่นที่กรุงวอชิงตัน ก็ได้ประณามกองกำลังรักษาความมั่นคงใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ประท้วงเมียนมา

“สหรัฐและญี่ปุ่น จะมุ่งดำเนินต่อไปเพื่อกดดันให้ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งปล่อยนักการเมืองที่ถูกควบคุมตัว นำพาเมียนมากลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว” ข้อความในแถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่นออกเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่าน โดยทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐได้โพสต์ทางทวิตเตอร์ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา

ขณะที่ประชาชนยังออกมาเคลื่อนไหวในหลายเมืองของเมียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยประชาชนเมียนมาคนหนึ่งบอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (17 เม.ย.) เห็นกองกำลังรักษาความมั่นคงยิงผู้ชุมนุม 2 คนในเมืองโมก็อก ทางตอนเหนือของมัณฑะเลย์ และมีผู้ถูกจับกุมตัวอีกหลายพันคน

นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นยังรายงานด้วยว่า มีการปาระเบิดหลายลูกในนครย่างกุ้ง ทำให้ทหารเสียชีิวิต 1 นายและประชาชนบาดเจ็บอีกหลายคน โดยที่กองทัพได้กล่าวหาผู้ประท้วงว่าปฏิบัติการโจมตีโดยใช้ระเบิด

อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า โฆษกกรมราชทัณฑ์เมียนมาประกาศว่า รัฐบาลได้อภัยโทษให้แก่นักโทษจำนวน 23,184 คน ออกจากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว แต่ในกลุ่มนั้น แทบไม่มีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งถูกจับหลังเกิดรัฐประหารรวมอยู่ด้วย

เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ยังก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ เป็นผลให้ชาวเมียนมาหลายร้อยคนหนีภัยจากความไม่สงบและการสู้รบข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

จนถึงวันนี้ กองทัพได้อ้างชอบธรรมจากการทำรัฐประหารว่า มีทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.2563 แม้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาจะคัดค้านคำโต้แย้งดังกล่าวแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ซูจีต้องเผชิญกับหลายข้อหา รวมถึงการละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งอาจทำให้เธอถูกจำคุกเป็นเวลา 14 ปี โดยที่ทนายส่วนตัวของซูจีก็เดินหน้าปฏิเสธข้อหาอย่างเต็มที่