'พระตัดคอตัวเอง’ เป็น ‘พุทธบูชา’ หรือ ‘อัตวินิบาตกรรม’

'พระตัดคอตัวเอง’ เป็น ‘พุทธบูชา’ หรือ ‘อัตวินิบาตกรรม’

ถอดรหัส ไขข้อสงสัย กรณี พระ "ฆ่าตัวตาย" ด้วยการตัดคอตัวเอง ถือเป็น บุญใหญ่ "พุทธบูชา" หรือ "อัตวินิบาตกรรม" กันแน่ ?

ภายหลังจากเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูหินกอง จ.หนองบัวลำภู สร้างกิโยติน ก่อน "ฆ่าตัวตายถวายเป็น "พุทธบูชา" เพื่อจะมีการสักการะบูชา พระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระศาสดาสสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศีรษะ เพื่อจะได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ ตรัสรู้เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล เหมือนกับ คำที่ท่านได้เขียนไว้ให้ แผ่นหินอ่อน ด้านหน้า รูปปั้นที่มีการตัดศีรษะแล้วยื่นถวาย เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ได้เป็นพระปักเจกพระพุทธเจ้าในโลกหน้า

ทั้งนี้ บริเวณที่ อดีตพระธัมกร ฐานธัมโม อดีตเจ้าสำนักสงฆ์ภูหินกอง ที่ใช้เป็นสถานที่ฆ่าตัวตายด้วยการตัดคอ บริเวณด้านหลังรูปปั้นที่มีการตัดคอแล้วจับยื่นศีรษะไปข้างหน้า ทางด้านเจดีย์ “สัพพสังวรเจดีย์” นั้น ตอนนี้ได้ถูกเก็บไปหมดแล้วเหลือเพียงอิฐบล็อกวางรอบเป็นแนวกับพวงมาลัยดอกดาวเรืองวางอยู่เท่านั้น

กรณีดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง และสงสัยว่าการที่พระ "ฆ่าตัวตาย" เพื่อถวายเป็น "พุทธบูชา" หรือเป็น "อัตวินิบาตกรรม" กันแน่?

พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอมกัลยาโน เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชาเพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าในโลกหน้านั้น อาตมาไม่เคยเห็นในพระไตรปิฏกหน้าไหน เล่มไหนระบุไว้เลยว่ามี เพราะแม้แต่การสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน พระพุทธเจ้ายังเรียกว่าอามิสบูชา ซึ่งยังสู้การปฎิบัติบูชาไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าสรรเสริญการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชา ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะตัดตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ การตัดกิเลส ไม่ใช่การตัดชีวิต อย่าโง่ไปตัดชีวิตด้วยการตัดคอ ถ้าพระรูปนี้มุ่งมั่นตัดกิเลสตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแบบนี้ถึงจะถูกต้อง

นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ระบุเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า ไม่มีคำสอนไหน ที่พระพุทธเจ้าสอนให้คนตัดหัวตัวเองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชานะโยม ศึกษาธรรมะ ต้องระวังให้ดี อย่าไปตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบผิดๆ

สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการคือการได้เห็นคนที่ปฎิบัติตามคำสอนของท่านแล้วมีชีวิตที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ละความทุกข์ได้มากขึ้น ท่านไม่ต้องการให้ใครมาสละชีวิตหรือถวายหัวเพื่อท่านหรอก อย่าไปเชื่อว่า การสละชีวิตตัวเอง จะทำให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่ ได้ตรัสรู้ ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ธรรมะเป็นสิ่งที่ปฎิบัติได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายเพื่อไปรอผลชาติหน้า

161877312141

พุทธบูชา

คือการนอบน้อมการบูชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยการระลึกถึงพระคุณของท่าน คือพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ การบูชาก็มีอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเจ้า สำหรับ การฆ่าตัวตาย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในอดีตนั้นเคยมีเรื่องปรากฏให้เห็นอยู่อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 4 ความว่า... 

“ก็การล้างสิ่งซึ่งเป็นการขัดต่อการแผ่นดินบ้านเมือง ถึงคนบางจำพวกที่เป็นคนใกล้จะเสียจริต นับถือว่าใครทำได้เป็นคนดีมีศรัทธาแก่กล้า จนเห็นว่าเป็นบุญกุศลมาก ด้วยได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูป ที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริง มาเทศนาเลอะๆ ลามๆ ใกล้จะเสียจริตพรรณนาสรรเสริญว่า เป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไปเหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัย แลเชือดคอเอาศีร์ษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา แลทำการอื่นที่ขัดต่อราชการแผ่นดินก็ดีมีโดยชุกชุม เหมือนอย่างสามเณรสุกเผาตัวที่วัดหงสาราม แลนายเรือนายนกเผาตัวบูชาพระที่หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แลนางชีผู้หนึ่งเผาตัวบูชาพระพุทธบาท เป็นตัวอย่างเห็นอยู่ทั่วกันดังนี้

...อย่าให้ใครเชื่อฟัง เอาเป็นตัวอย่างเลยเป็นอันขาด ถึงในพระวินัยบัญญัติ ก็ห้ามไว้ มิให้พระสงฆ์ชักชวนคนให้ฆ่าตัว ถ้าพระสงฆ์รูปใดชักชวนมนุษย์ให้ตาย ด้วยวจีประโยคก็เป็นปาราชิก เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ไม่ใช่การบุญการกุศลไม่ควรจะอนุโมทนายอมตามเลย เป็นการขัดต่อแผ่นดิน

บางส่วนจาก :- เรื่องสนุกในแผ่นดินพระจอมเกล้า

ผู้แต่ง : วิบูล วิจิตรวาทการ

การ "ฆ่าตัวตาย" หรือ "อัตวินิบาตกรรม" 

ในทางพุทธศาสนา การเกิดเป็นคน นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เมื่อได้เกิดมาเป็นคน ควรที่จะภูมิใจในชีวิต ที่ได้เกิดมา ชีวิตของคนเรานั้น มีคุณค่ามาก เพราะสามารถใช้ชีวิต เพื่อปฎิบัติดี เพื่อสร้างบุญบารมี ใช้ชีวิตเพื่อให้ชดใช้กรรมให้หมดสิ้น ใช้เพื่อสะสมความดีไว้เป็นพลังบุญในภายหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ประวัติ 'ธรรมกร' สำนักสงฆ์ภูหินกอง ปมตัดหัวเป็นพุทธบูชา ถวายพระพุทธเจ้า

อัตวินิบาตกรรม

ในพระพุทธศาสนามีปรากฏอยู่ใน “ตติยปาราชิก วินัยปิฎก มหาวิภังค์” ที่ใช้คำว่า “อตฺตวินิปาโต” แปลว่า การปลงชีวิต หรือปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งปรากฏในพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสในฉันโนวาทสูตรและโคธิกสูตรว่า

ก็ ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา
อันจะพรากกายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการทำ "อัตวินิบาตกรรม" หรือ "ฆ่าตัวตาย" นั้นว่า เป็นสิ่งไม่ดี ไม่เหมาะแก่สมณะที่จะทำเช่นนั้น โดยสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำปาณาติบาต คือ เจตนาหรือจิตคิดจะฆ่า ซึ่งจะดำรงอยู่บนฐานของการกระทำที่เป็นอกุศลซึ่งประกอบด้วยโทสะ โมหะ และเป็นที่ทราบดีว่าการกระทำที่ตกอยู่ในอำนาจของอกุศลจิตนั้น จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า “บาป” ขึ้นมา ดังนั้น อัตวินิบาตกรรม ถ้าทำจนเป็นผลสำเร็จ ผู้ทำก็น่าจะได้รับบาปนั้นไปด้วยอย่างมิต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี การฆ่าตัวตายนั้นมีทั้งการฆ่าตัวตายที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน (ตำหนิ) และไม่ทรงติเตียน โดยในกรณีที่ทรงติเตียนส่วนใหญ่หรือทั้งนั้น จะเป็นกรณีของคนฆ่าตัวตายที่ยังเป็นปุถุชน มีโลภ โกรธ หลง จิตใจยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

แต่ในกรณีที่ผู้ฆ่าตัวตายเป็นอริยบุคคลจะไม่ทรงตำหนิ เช่น กรณีของพระฉันนะ พระองค์ไม่ทรงตำหนิการทำอัตวินิบาตของพระฉันนะ ก็เพราะแม้ในลำดับจิตแรกอัตวินิบาตกรรมเป็นความหลงผิด แต่ในลำดับจิตหลังเมื่อพระฉันนะได้ลงมือฆ่าตัวเองแล้วได้ยกจิตขึ้นสู่กระแส แห่งความหลุดพ้นและจบชีวิตไปพร้อมกับกิเลสอาสวะได้หมดสิ้นจากใจไปด้วย ลักษณะเช่นนี้การทำ "อัตวินิบาตกรรม" ไม่ถือว่ามีความผิด ไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียนตนเอง

ทั้งนี้ หลักการที่เป็นมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยคำสอนว่า ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่? เรียกว่า "หลักตัดสินธรรมวินัย" พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ "พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี" ครั้งหนึ่ง และแก่ "พระอุบาลีเถระ" ครั้งหนึ่ง ที่ทรงตรัสแก่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี มี 8 ข้อ ใจความว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

  1. สราคะ ( ความติดใคร่ย้อมใจ )
  2. สังโยค ( ความผูกรัดมัดตัวอยู่ในวังวนแห่งทุกข์ )
  3. อาจยะ ( ความพอกพูนกิเลส )
  4. มหิจฉตา ( ความมักมากอยากใหญ่ )
  5. อสันตุฏฐี ( ความไม่รู้จักพอ )
  6. สังคณิกา ( ความมั่วสุมคลุกคลี )
  7. โกสัชชะ ( ความเกียจคร้าน )
  8. ทุพภรตา ( ความเป็นคนเลี้ยงยาก )

ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์ หรือคำสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ

  1. วิราคะ ( ความคลายออกเป็นอิสระ )
  2. วิสังโยค ( ความเปลื้องตนจากวังวนแห่งทุกข์ )
  3. อปจยะ ( ความไม่พอกพูนกิเลส )
  4. อัปปิจฉตา ( ความมักน้อย ไม่มากอยากใหญ่ )
  5. สันตุฏฐี ( ความสันโดษ )
  6. ปวิเวก ( ความสงัด )
  7. วิริยารัมภะ ( ความเร่งระดมความเพียร )
  8. สุรภตา ( ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย )

ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ หรือคำสอนของพระศาสดา 

    ( ที่มา : วินย. ๗/๕๒๓/๓๓๑ )

และที่ทรงตรัสแก่ "พระอุบาลีเถระ" มี 7 ข้อ ใจความว่า ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ

  1. เอกันตนิพพิทา ( ความหน่ายหายติดได้สิ้นเชิง )
  2. วิราคะ ( ความคลายออกเป็นอิสระ )
  3. นิโรธ ( ความดับกิเลสได้ ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น )
  4. อุปสมะ ( ความสงบที่กิเลสระงับราบคาบไป )
  5. อภิญญา ( ความรู้ประจักษ์ตรงต่อความจริงจำเพาะ )
  6. สัมโพธะ ( ความตรัสรู้หยั่งเห็นความจริงเต็มพร้อม )
  7. นิพพาน ( ภาวะดับทุกข์หายร้อนเย็นสนิท )

ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นสัตถุสาสน์ หรือคำสอนของพระศาสดา 

ที่มา : องฺ.สตฺตก.๒๓/๘๐/๑๔๖