'กนก'แนะ'รัฐบาล'3ข้อ พลิกตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยสู่แดนบวก

'กนก'แนะ'รัฐบาล'3ข้อ พลิกตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยสู่แดนบวก

"กนก" ชี้ มาตรการคุม "โควิด" มาถูกทาง ประคองศก. ไปพร้อมกัน เผย ตัวเลขจาก "สภาพัฒน์" พบ ติดลบลดลง แนะ 3 ข้อ พลิกศก.ไทยสู่แดนบวก เจาะตลาดส่งออก-พัฒนาภาคเกษตร-สร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยว

นายกนก วงษ์ตระหง่าน ..บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมโควิด-19 ว่า ตนขอช่วยรัฐบาลคิดผ่าวิกฤตโควิดด้านเศรษฐกิจ การไม่ล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว นับเป็นความพยายามที่จะผสมผสานการควบคุมการระบาดโควิดและการประคองเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อไปดูตัวเลขรายงานทางเศรษฐกิจของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่าเศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% และไตรมาสสุดท้าย (..-..63) พบว่าอัตราการติดลบลดลง จากตัวเลขของสภาพัฒน์เหล่านี้ ทำให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มขยับตัวดีขึ้น จากติดลบมาก เป็นติดลบน้อยลง

นายกนก กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องช่วยกันคิดคือจะทำอย่างไรให้กระแสบวกของเศรษฐกิจนี้เดินหน้าต่อไป ไม่สะดุดหกล้มระหว่างทาง ตนจึงขอเสนอแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าสู่แดนบวกและเติบโต ดังนี้ เรื่องที่ 1.การส่งออกที่เริ่มดีขึ้นนั้น ประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนควรจะต้อง เจาะตลาดเป้าหมายใหญ่ของไทย คือ ตลาดจีนและฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านผ่านการค้าชายแดน ทีมประเทศไทยต้องชัดเจนว่าสินค้าอะไรในแต่ละตลาด ที่ไทยขายได้ดี และสินค้าคู่แข่งของไทยมาจากไหน เราจะชนะได้อย่างไร เช่น คุณภาพสินค้า รูปแบบสินค้าความมีเสถียรภาพของการส่งสินค้า จนถึงผู้นำเข้าสินค้าไทยในแต่ละตลาดคือใคร เขาชอบและไม่ชอบอะไรปัญหาและอุปสรรคของเขาคืออะไร เป็นต้น ทีมประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องปรับแก้โดยเร็ว       ในทุกประเด็น เพื่อให้สินค้าไทยบุกเข้าไปยึดครองตลาดเหล่านั้นในยุคหลังโควิดให้ได้ การทำงานเชิงรุก     อย่างแม่นยำเท่านั้นจึงจะเร่งฟื้นการส่งออกของไทยได้

2.ภาคการเกษตรเริ่มปรับตัวเป็นบวก 0.9% ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2563 แสดงว่าเกษตรกรไทยเริ่มปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โควิดบ้างแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อเร่งขยายผลการปรับตัวนี้ ให้มีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ, ดิน และกระบวนการปลูกด้วยการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีลงไปสนับสนุนเกษตรกรในแปลงการผลิต อีกด้านหนึ่งรัฐบาลควรเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการแปรรูปอาหารและสกัดสารออกฤทธิ์ให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถแปรรูปผลผลิต เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและดึงสารออกฤทธิ์ออกมาจากพืชให้ได้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของผลผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่ให้ผลตอบแทนกับประเทศสูงสุดเพราะส่วนประกอบที่ทำให้เกิดผลผลิตเกือบทั้งหมดมาจากภายในประเทศ ซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนประกอบภายในประเทศ มีไม่มากเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศสูง ยิ่งไปกว่านั้นภาคเกษตรเป็นฐานของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อทำให้มีผลิตภาพและมูลค่าสูงแล้ว การกระจายรายได้ของประเทศจะดีขึ้นและความเหลื่อมล้ำของประเทศจะลดลง

3.คือการท่องเที่ยวช่วงโควิดถูกกระทบรุนแรงที่สุดเพราะนักท่องเที่ยวไม่เดินทาง หัวใจของการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวคือการทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยจากการเดินทาง        การทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศปลอดภัยจากโควิดคงจะไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่การทำให้เมืองท่องเที่ยวปลอดภัยจากโควิดน่าจะอยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้ ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่นั้นให้เกินร้อยละ 60 ของประชากร เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษและจีนทำต่อการควบคุมโควิด และสร้างความมั่นใจ เมืองท่องเที่ยวที่เป็นแม่เหล็กของไทยในสายตาต่างประเทศคือภูเก็ต รองลงมาคือกระบี่และเชียงใหม่ ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ปลอดภัยจากโควิดให้ได้ จากนั้นให้สื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่ชื่นชอบกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของเมืองทั้งสาม เช่น จีน เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

นายกนก กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายคือ รัฐบาลจะต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นต่ออนาคตเศรษฐกิจประเทศให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเอกชน การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนไม่เกิดขึ้นเพราะความไม่เชื่อมั่นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร การสร้างความเชื่อมั่นทำได้ 2 ทาง 1.ทำในสิ่งที่จะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเชื่อมั่น เช่น การผสมผสานมาตรการป้องกันการระบาดและการเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเร่งระดมฉีดวัคซีน เป็นต้น 2.ไม่ทำในสิ่งที่จะทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง การทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น