'เลือกตั้งท้องถิ่น' ร้อนกลางปี เปิดศึกชิงเก้าอี้ 'อบต.'

'เลือกตั้งท้องถิ่น' ร้อนกลางปี เปิดศึกชิงเก้าอี้ 'อบต.'

การ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ลำดับถัดไปจะเกิดขึ้นอีกครั้งไม่เกินเดือน มิ.ย. ก่อนที่ช่วง ก.ย.-ต.ค.จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.และเมืองพัทยา

ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเลือกท้องถิ่นลำดับที่ 2 ต่อจากการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่งตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2563

เป็นการเว้นระยะจัด "เลือกตั้งท้องถิ่น" ห่างกันประมาณ 3 เดือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เคยประกาศ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 3 ระดับ ประกอบด้วย การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่งที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) และเมืองพัทยา

แต่หาดยึดโรดแม็ปจาก กกต.จัดการเลือกตั้ง "เว้นระยะห่าง" ทุก 3 เดือน หมายความว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นลำดับถัดไปจะเกิดขึ้นอีกครั้งไม่เกินเดือน มิ.ย.2564 สอดคล้องกับ "พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา" เลขาธิการ กกต.เคยออกมาเปิดเผยว่า เมื่อเสร็จการเลือกตั้งเทศบาลแล้วเสร็จ ช่วง มิ.ย.อาจเป็นการเลือกตั้ง อบต. ก่อนที่ช่วง ก.ย.-ต.ค.จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.และเมืองพัทยา

ระหว่างนี้จึงเป็นช่วง "นักเลือกตั้ง" ท้องถิ่นสาย อบต.เริ่มขยับตัวหาเสียงอีกครั้งเพื่อรอรับการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจาก กกต.อีกไม่กี่เดือน โดยเฉพาะการเดินสายปูพรมยึดสนามการเมืองท้องถิ่นให้เป็นฐานเสียงสำคัญ เตรียมความพร้อมเลือกตั้งใหญ่อีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า

สำหรับข้อมูลองค์กรปกครองส่วนถิ่นของ "อบต." นั้น "กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบไปที่กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.2563 มีจำนวน อบต.ทั้งประเทศอยู่ที่ 5,300 แห่ง โดยจำนวน อบต.แต่ละจังหวัดมีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1.นครราชสีมา 243 แห่ง 2.ศรีษะเกษ 179 แห่ง เท่ากับอุบลราชธานี 179 แห่ง 3.บุรีรัมย์ 145 แห่ง 4.สุรินทร์ 144 แห่ง 5.ขอนแก่น 140 แห่ง 6.นครศรีธรรมราช 130 แห่ง 7.ร้อยเอ็ด 129 แห่ง 8.มหาสารคาม 123 แห่ง 9.พระนครศรีอยุธยา 121 แห่ง เท่ากับนครสวรรค์ 121 แห่ง และ 10.อุดรธานี 109 แห่ง

ส่วนจำนวนสมาชิก อบต.(ส.อบต.) กำหนดให้มี ส.อบต.เขตละ 1 คนให้สภามีจำนวนสมาชิก เริ่มต้นที่ 6 คน ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ มี 1 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต จำนวน 6 คน , มี 2 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 3 คน , มี 3 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 2 คน

มี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน และให้เพิ่ม ส.อบต. แก่เขตเลือกตั้งที่มีจานวนราษฎร มากที่สุด 2 ลำดับ ลำดับละ 1 คน , มี 5 เขตเลือกตั้ง ให้สภา อบต. มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน และให้เพิ่ม ส.อบต.แก่เขตเลือกตั้งที่มี จำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

กรณีหมู่บ้านใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้นายอำเภอรวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้งเดียว โดยถือจำนวนราษฎร ณ วันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และต้องประกาศภายใน 31 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

ส่วนอำนาจหน้าที่ อบต.เป็นไปตาม "พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล 2537" ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหลักในการบริหารราชการใน "มาตรา 66" กำหนดให้ อบต.ทำหน้าที่พัฒนาตําบลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม "มาตรา 67" ต้องมีหน้าที่ จัดให้มีและบํารุงทางน้ําและทางบก รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ํา ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

ในอำนาจหน้าที่ยังมีภารกิจ ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ คุ้มครอง ดูแลและบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย

นอกจากนี้ มีสัญญาณชัดเจนเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการฯ กกต.ปฏิบัติหน้าที่แทน เลขาธิการ กกต.มีหนังสือ เรื่อง "การเตรียมความพร้อมในการเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตําบล)" ถึง ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด 

ในหนังสือมีเนื้อหาระบุถึง สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบ ให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลเป็นลําดับต่อไป

จึงขอให้สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด ตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับการคัดเลือกว่ายังเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กําหนดหรือไม่ 

เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรี จะพิจารณาเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งแล้วจะได้แจ้งให้จัดส่งเอกสารดังกล่าว ให้สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป

161871235294

161871234141

เมื่อหนังสือที่มาจาก กกต.ครั้งนี้ เป็นดัชนีชี้วัดการล็อคเป้าจัดเลือกตั้ง "อบต." จะอยู่ในคิวถัดไป ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเร่ง "ตรวจสอบ" คุณสมบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัคร รับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกต้ัง

ขณะที่ "ลักษณะต้องห้ามหาเสียง" เลือกตั้ง อบต.ยังยึดโยงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบอื่น อาทิ ไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง ไม่ใช่ถ้อยคำรุนแรง หรือปลุกระดมให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ หรือห้ามช่วยเหลือเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ให้ผู้อื่นตามประเพณีต่างๆ

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามข้อมูลแนบท้ายระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนดให้ผู้สมัครนายก อบต.อยู่ที่ 2,500 บาท และสมาชิกสภา อบต.มีค่าสมัครอยู่ที่ 1,000 บาท

ทั้งหมดเป็น "ฐานข้อมูล" เตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง อบต.ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอีก 3 เดือนข้างหน้า ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชื่อว่า จะเข้มข้นไม่แพ้การเลือกตั้งในระดับใดแน่นอน.