'โควิด' ปลดล็อก โอกาสฟื้น 'หุ้นยานยนต์'

'โควิด' ปลดล็อก โอกาสฟื้น 'หุ้นยานยนต์'

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์รับผลบวกวัคซีนโควิด-19 'กำจัด' ปัจจัยลบกดดัน ส่งให้อุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง !! หลังเผชิญความท้าท้ายร่วมปี '3บิ๊กเอกชน' มองเศรษฐกิจฟื้นเมื่อทั่วโลกเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ลั่นสัญญาณออเดอร์ล่วงหน้าวิ่งชนเพียบ...

ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศที่ปรับตัว 'ลดลง' หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ยอดผลิต-ยอดขายรถยนต์ในประเทศ และยอดส่งออก 'หดตัว' ในปี 2563

สะท้อนผ่านตัวเลขจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.– ธ.ค.2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,426,970 คัน ลดลง 29.14% จากเดือนม.ค.-ธ.ค.2562 ! แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 704,626 คัน เท่ากับ 49.38% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ระยะเวลาเดียวกัน 32.06% 

ทว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 บ่งชี้ผ่าน 'วัคซีนโควิด-19' ที่หลายประเทศกำลังเร่งฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาปกติโดยเร็ววัน 

โดยสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และแนวโน้มต่อเนื่องมาในปี 2564 ! 

'สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์' รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปี 2564 โดยแยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยประมาณการการผลิตรถยนต์ในปีนี้ อยู่ที่ 1,500,000 คัน เพิ่มขึ้น 6% ประกอบด้วยการส่งออก 750,000 คัน เพิ่มขึ้น 2% จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

และการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน ลดลง 3% จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้หากพิจารณา 'ปัจจัยบวก' ตลอดปี 2564 นักวิเคราะห์จากหลากหลายสำนักแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมยานยนต์อาจเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น

สอดคล้องกับ 'ฐานะการเงิน' ของเหล่า '3ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์' ที่กำลังฟื้นตัว อาทิ บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH , บมจ.พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH , บมจ.สมบูรณ์แอดวานซ์ หรือ SAT เป็นต้น โดยปี 2563 ตัวเลขผลประกอบการ 3หุ้นชิ้นส่วนฯ เริ่มมีทิศทางดีขึ้น หุ้น AH มีกำไรสุทธิ 147.76 ล้านบาท หุ้น PCSGH มีกำไรสุทธิ 253.79 ล้านบาท หุ้น SAT กำไรสุทธิ 371.20 ล้านบาท 

'เย็บ ซิน หรู' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ. อาปิโก ไฮเทค หรือ AH เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด -19 จะมีผล 'กดดัน' ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ แต่มองว่าอุตสาหกรรมได้ 'พ้นจุดต่ำสุด' ไปแล้ว และกลับมามีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นไป

โดยในช่วงที่ผ่านมาปัญหาทางเศรษฐกิจ และ โควิด-19 มีผลกดดันให้คู่แข่งหลายรายยุติการผลิต ตลอดจนย้ายฐานผลิตไป ส่งผลให้บริษัทได้รับอานิสงส์บวกดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าย้าย 'คำสั่งผลิต' (ออเดอร์) จากคู่แข่งมาให้บริษัทมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

ประกอบกับ ในปี 2565 จะมีรถยนต์หลายรุ่นครบรอบการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ (model change) ทำให้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าหลายรายได้เริ่มมีการนำโมเดลใหม่เข้ามาเจรจากับบริษัทอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าปีนี้บริษัทจะได้รับออเดอร์โมเดลใหม่เข้ามาได้เพิ่ม มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 ล้านบาท และ คาดจะได้รับออเดอร์โมเดลผลิตใหม่ดังกล่าวไปอย่างต่อเนื่องอีก 5-7 ปีจากนี้ไป หรือ อย่างมากที่สุดไม่เกิน 10-15 ปี ซึ่งเป็นไปตามรอบอายุการใช้งานของรถโดยเฉลี่ยปกติ

'ดังนั้น คาดยอดขายปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปีก่อน และมีการเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรม'

เธอ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงมี 'ความสนใจ' และ 'มองหาโอกาส' ในการขยายตลาดไปยังประเทศญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่า เป็นประเทศที่มีการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลที่สูง และ มีหลายแบรนด์ที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัทอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีการใช้อัตรากำลังการผลิต (Utilization rate) อยู่ที่ประมาณ 70-80%

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมปีนี้จะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน คาดตลาดยานยนต์โลกปีนี้จะมีการเติบโตที่ไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2563 ที่มียอดผลิตทั่วโลกกว่า 78 ล้านคัน ในขณะที่ไทยมียอดผลิตอยู่ที่ 1.43 ล้านคัน ในขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศปีนี้คาดว่า จะกลับมามีการเติบโตที่ไม่น้อยกว่า 5% จากปีก่อน

'รีย์ฐิตา อักษรจิรารัตน์' ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการเงิน บมจ. สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี หรือ SAT บอกว่า ประเมินยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ฟื้นตัวแตะ 1.5-1.55 ล้านคัน เติบโต 10% สอดรับกับคาดการณ์รายได้ของบริษัทปีนี้เติบโต 20-25% จากปีก่อน ซึ่งเป็นรายได้ที่เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อใหม่เพิ่ม

โดยบริษัทได้รับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เพลาข้าง ส่งออกไปต่างประเทศเข้ามาเสริม 300 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 63 ซึ่งจะส่งมอบในปีนี้และรับรู้รายได้ปีนี้ 250 ล้านบาท จากไตรมาส 4/63 ทยอยส่งมอบไปแล้ว 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้รับคำสั่งซื้อใหม่ล่วงหน้ามาอีก 2 ออเดอร์ คิดเป็นมูลค่ายอดขาย 350 ล้านบาท แบ่งเป็นคำสั่งซื้อเพลาข้างรถกระบะที่จะรับรู้รายได้ปีละ 270 ล้านบาท เริ่มทยอยส่งมอบลูกค้าตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 ส่วนอีกออเดอร์ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท คือ เพลาขับ ผลิตให้ค่ายรถกระบะ คิดเป็นมูลค่ายอดขาย 100-120 ล้านบาทต่อปี เริ่มส่งมอบลูกค้าตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565

โดยบริษัทวางงบลงทุนปีนี้ 300-400 ล้านบาท เป็นงบประจำปีสำหรับปรับปรุงการผลิต ยังไม่รวมซื้อกิจการ ซึ่งการร่วมทุน หรือซื้อกิจการยังเป็นโครงการศึกษาต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ยังมีโควิด-19 การส่งคนไปเจรจายังสะดุดอยู่ ก็ต้องรอเวลา

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาวัสดุและการออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดรับกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สำหรับรองรับธุรกิจในอนาคต

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 เริ่มเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างชัดเจน จากออเดอร์ที่เข้ามาเต็มปีนี้แล้ว ส่วนจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับปี 2562 ได้หรือไม่ ยังต้องเฝ้าจับตา