อย่าลืม! หลัง 2 ทุ่มคืนนี้ ชมปรากฏการณ์ 'ดวงจันทร์บังดาวอังคาร'

อย่าลืม! หลัง 2 ทุ่มคืนนี้ ชมปรากฏการณ์ 'ดวงจันทร์บังดาวอังคาร'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" เวลาประมาณหลัง 2 ทุ่มคืนนี้ (17 เม.ย.) หากพลาดต้องรออีก 19 ปี พร้อมไลฟ์สดเพจสถาบันฯ

วันนี้ (17 เม.ย.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คืนนี้จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 33 องศาฯ

จากนั้นดาวอังคารจะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20.12 น. จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อยๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21.28 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 17 องศาฯ (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)

  • รู้จักปรากฏการณ์ Occultations การบังกันของดวงดาว

การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น

โดยสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์

  • "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" ปรากฏการณ์หาชมยาก

ทั้งนี้ ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย โดยผู้สนใจร่วมชมความสวยงามได้ด้วยตาเปล่า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อยๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อยๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน

ส่วนครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในไทย คือในอีก 19 ปีข้างหน้า โดยจะเกิดขึ้นวันที่ 22 มี.ค.2583 เวลาประมาณ 00.15 น.

ส่วนปรากฏการณ์ครั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจะมีถ่ายทอดสดผ่าน NARIT Facebook Live ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เวลา 19.30 - 21.30 น. ให้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ

  • วิธีการสังเกตปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" ด้วยตัวเอง

1) มองหาตำแหน่งของดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อยู่ทางทิศตะวันตก เคียงข้างอยู่กับดาวอังคาร

2) สังเกตปรากฏการณ์กันได้เลย เริ่มเวลาประมาณ 20:12 น. จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ จากนั้นดาวอังคารจะโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. 

3) หากสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ จะมีเวลาสังเกตการณ์ในช่วงที่ดาวอังคารกำลังเคลื่อนหายไปหลังขอบของดวงจันทร์เพียง 15 วินาทีเท่านั้น นับตั้งแต่จังหวะที่ขอบดวงจันทร์แตะขอบดาวอังคาร จนกระทั่งดวงจันทร์ค่อยๆ บังดาวอังคารจนมิดหมดทั้งดวง จากนั้นรอสังเกตการณ์อีกครั้งตอนดาวอังคารโผล่พ้นกลับออกมา

4) หากสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา จะมองเห็นดาวอังคารเป็นจุดเล็กๆ หรี่แสงลง แล้วหายลับไปด้านหลังของดวงจันทร์ และกลับมาสว่างอีกครั้งตอนโผล่พ้นกลับออกมา