ธปท. ย้ำไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน กรณีไทย ถูกจับตา‘บิดเบือนค่าเงิน’

ธปท. ย้ำไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน กรณีไทย ถูกจับตา‘บิดเบือนค่าเงิน’

ธปท.ชี้ กรณีไทยถูกขึ้นบัญชี เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน หลังเกินดุลการค้า-ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่าเกณฑ์ เชื่อไม่มีนัยสำคัญ ไม่กระทบต่อการดูแลเสถียรภาพการเงิน ชี้ไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน หวังสร้างความได้เปรียบทางการค้า

     นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564

.    ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในmonitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (เดือนธันวาคม 2563) เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP

.   ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน monitoring list ต่อเนื่องไปอีก 2 รอบการประเมิน

   โดยการประเมินรอบนี้ มีคู่ค้า 11 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลีอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก

   ธปท. ขอย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ

     อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์   

    โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของCOVID-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า

      โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด