ไขข้อสงสัย ป่วยโควิดกลุ่มใด ต้องอยู่ 'รพ.สนาม - ฮอสพิเทล'

ไขข้อสงสัย ป่วยโควิดกลุ่มใด ต้องอยู่ 'รพ.สนาม - ฮอสพิเทล'

จากกรณีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดผู้ป่วยทะลุ 1,500 รายต่อวัน มีความจำเป็นที่ต้องเปิด รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล รองรับเพื่อให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีข้อสงสัยว่า ต้องป่วยระดับไหนหรือกลุ่มใด ที่ต้องอยู่ รพ.สนาม และ ฮอสพิเทลกันแน่

วันนี้ (16 เมษายน 2564) พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวในงานแถลงข่าว ‘สายด่วน-LINE’ ช่วยหาเตียงผู้ติดเชื้อโควิด ผ่าน Facebook live สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอธิบายว่า ขณะนี้ คลินิกเอกชน ต้องจับคู่กัน รพ.ที่มีศักยภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีคนดูแลในการหาเตียงได้

“รพ.รัฐ รพ.เอกชน คลินิก ที่จับคู่กันเรียบร้อยแล้ว จะต้องซักประวัติ ขอเบอร์โทรศัพท์ เพื่อแจ้งกลับผู้ป่วย หากผลเป็นบวก และจะมีการหาเตียง เริ่มจากเตียงใน รพ.นั้นก่อน หากเต็มก็จะเป็นเตียงในเครือข่ายทั้ง รพ.เอกชน , กรมการแพทย์ , สำนักการแพทย์ กทม. , มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ หาก รพ. เครือข่ายเต็ม จะมีการหาเตียงข้ามเครือข่าย โดยศูนย์บริหารจัดการเตียง คือ “ศูนย์เอราวัณ” โดย รพ.จะโทรประสานไปยังศูนย์ฯ เพื่อ "หาเตียง" ให้”

  • อาการแบบไหนจะถูกส่งตัวไป "รพ.สนาม" – "ฮอสพิเทล"  

พญ.ปฐมพร  อธิบายว่า หากตรวจเชื้อที่ไหน รพ.นั้นจะช่วย "หาเตียง" ให้ก่อน ยกเว้นไม่มีเตียง หรือ รพ.เครือข่ายไม่มีเตียง จะมีการหาเตียงในระบบทั้งหมด จะได้นอน รพ. รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล ขึ้นอยู่กับ อาการ อย่างไรก็ตาม รพ.สนาม หรือ ฮอสพิเทล จะมีแพทย์ พยาบาลดูแล 24 ชั่วโมง  ไม่ต้องกังวล โดยก่อนเข้า รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล จะได้รับการตรวจ ซักประวัติ เอกซเรย์ปอด หากผลการเอกซเรย์ปอด มีข้อสงสัยว่าปอดจะอักเสบ จะได้อยู่โรงพยาบาล ขณะที่ กลุ่มที่ต้องอยู่ รพ.สนาม และ ฮอสพิเทล ได้แก่ 

  • อาการไม่หนัก  
  • หากอายุน้อยกว่า 50 ปี 
  • ไม่มีโรคประจำตัว 
  • ไม่ใช่ผู้พิการ 

  • “คนพิการ” จะถูกส่งไป "ฮอสพิเทล" และ "รพ.สนาม" หรือไม่

พญ.ปฐมพร ระบุว่า สำหรับในกลุ่มคนพิการ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกส่งไป "รพ.สนาม" หรือ "ฮอสพิเทล" เพราะทั้งสองแห่ง รับผู้ป่วยอาการไม่เยอะ อายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีความพิการ สามารถดูแลตัวเองได้  ทั้งนี้ ภายใน รพ.สนาม  มีอุปกรณ์วัดไข้ข้างเตียง เพื่อให้ผู้ป่วยวัดไข้ และแจ้งผลกับพยาบาลที่ดูแล รพ.สนาม มีกล้อง CCTV ที่ถูกจัดให้เห็นเตียงทั้งหมด ขณะที่ ฮอสพิเทล เนื่องจากเป็น โรงแรมห้องเดี่ยว การมีกล้อง CCTV อาจจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จะมีการสังเกตจากการที่ผู้ป่วยออกมารับถาดอาหารในเวลาที่ควรจะเป็นหรือไม่ พร้อมทั้งมี โทรศัพท์สามารถโทรหาผู้ที่ดูแลได้ 

 

  • ใครต้องไป "รพ.สนาม" ใครได้อยู่ "ฮอสพิเทล"  

พญ.ปฐมพร  ระบุว่า “รพ.สนาม” และ “ฮอสพิเทล” ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แยก จะเป็นการพิจารณาว่าที่ไหนมีเตียงว่าง เป็นไปตามการจัดสรร ลงเตียง สิ่งแรก คืออยากให้เข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ลดการระบาด หลายคนผลตรวจเป็นบวก แต่อยู่บ้าน ไม่บอกใครคิดว่ามีห้องเดี่ยว คิดว่า หาก รพ. ไม่โทรตามก็ไม่เป็นไร เดี่ยวก็ครบ 14 วัน แต่แบบนี้มีความเสี่ยงต่อครอบครัว หลายครั้งที่ห้องข้างๆ หรือ บ้านข้างๆ แจ้งเข้ามา 1330 1660 หรือ 1422

  • หากตรวจแล็บเอกชนที่ไม่มี รพ.รองรับ

พญ.ปฐมพร อธิบายว่า กลุ่มหลักที่ค้างในระบบ คือ กลุ่มที่ตรวจแล็บเอกชน ไม่มี รพ.รองรับ ดังนั้น หากผลเป็นบวก ให้โทรศัพท์เข้ามาตามสายด่วน 1669 หรือ 1330 หรือ เข้าสบายดีบอต ย้ำว่า ไม่อยากให้โทรทุกที่ ทุกเบอร์ เพราะข้อมูลจะซ้ำกัน ทำให้ช้าไปอีก แนะนำว่าให้โทร 1 ครั้ง และรอการดำเนินการ

"ขณะที่หลายคน ทำการตรวจหลายที่ เพราะคิดว่าต้องได้ รพ.เครือข่ายสักแห่ง ทำให้ผลแล็บเกิดข้อมูลซ้ำ ทำให้ต้องไปคลีนความซ้ำซ้อนของแล็บ"   

  • ขอความร่วมมืออย่าโทรซ้ำซ้อน       

ทั้งนี้ หลายคนเมื่อมีความกังวลใจในการติดเชื้อทำให้ระหว่างรอ รพ.จัด "หาเตียง" พญ.ปฐมพร  ระบุว่า มีการโทรไปสายด่วนไม่ว่าจะเป็น 1330 หรือ 1669 ซึ่งผู้ป่วยจะถูกซักข้อมูลสุขภาพอีกครั้ง รวมถึงอาการเพิ่มเติม เพื่อคีย์ข้อมูลไปในไฟล์ และส่งไปยัง ศูนย์เอราวัณ เช่นเดิม เป็นความซ้ำซ้อน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกวันจะต้องมีการคลีนข้อมูล เนื่องจากศูนย์เอราวัณ รับข้อมูลจากทั้ง 1330 , 1668 , สบายดีบอต , โรงพยาบาล และประชาชน ทำให้ทุกวันมีข้อมูลซ้ำกันเกิน 50%  

  • “สบายดีบอต” ช่วยหาเตียง

ทั้งนี้ นอกจากการโทรศัพท์แล้ว อีกหนึ่งทางเลือก คือ “สบายดีบอต” (Line @sabaideebot) ขณะนี้ขอให้เป็นเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย เข้าแอปพลิเคชั่นไลน์ , เพิ่มเพื่อนในไลน์ โดยพิมพ์ “@sabaideebot” พร้อมกับ กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเพื่อการหาเตียง โดยแนบภาพผล RT-PCT และการตอบรับข้อตกลงในการส่งข้อมูล ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ หากเรียบร้อย จะได้รับโค้ดว่าข้อมูลถูกส่งไปแล้ว เป็นช่องทางที่ช่วยลดภาระในการโทรศัพท์ซ้ำๆ และขอให้สำหรับคนที่มีผลเป็นบวกเท่านั้น เพราะบางคนแนบรูปเล่นๆ มา ทำให้ลำบากในการตรวจสอบ

 

  • ผลโควิดเป็นบวก รอเตียงนานแค่ไหน

สำหรับคนที่ผลการตรวจเป็นบวก พญ.ปฐมพร ระบุว่า หาก รพ. ที่ตรวจมีเตียง ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เลย แต่หากไม่มี และ รพ.เครือข่ายก็ไม่มีเตียง ต้องคอยเตียง ประมาณ 1-2 วัน แต่อีกส่วนที่สำคัญ คือ หากได้เตียงแล้ว จะต้องมีการจัดรถไปรับ ซึ่งในช่วงแรกอาจใช้เวลาบ้างเนื่องจากรถติด แต่ช่วง 2-3 วันหลัง การส่งรถไปรับเร็วขึ้นเนื่องจากรถไม่ค่อยติด

ขณะที่บางคน ตรวจพบผลเป็นบวก แต่โรงพยาบาลให้รักษาตัวรอที่บ้านก่อน ซึ่งกรณีนี้มาจากการประเมินของแพทย์ ดังนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ ทานยาที่ได้รับไป ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงที่สุด ดำเนินการป้องกันเชื้อของตัวเองอย่าให้ติดคนที่บ้าน การที่แพทย์ให้กลับบ้าน น่าจะมีการประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีห้องที่สามารถแยกกักได้

  • ข้อปฏิบัติกักตัวที่บ้านกลุ่มเสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม ในการตรวจผลอาจจะไม่ได้ออกทันที หากมีอาการ เช่น มีอาการมาก เอกซเรย์ปอดมีความเสี่ยง รพ.จะ "หาเตียง" ให้นอน แต่หากไม่มีไข้ ไอนิดหน่อย สามารถกลับบ้านได้ โดยต้องปฏิบัติตัวและสังเกตอาการที่พักอาศัยระหว่างรอผล โดย การปฏิบัติระหว่างกักตัวในที่พักอาศัย ได้แก่

1. อยู่ที่พักอาศัยกักตัว 14 วัน นับจากวันที่ตรวจเชื้อ

2. ไม่รับประทานอาหารและพาชนะร่วมกับผู้อื่น

3. ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ

4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ นาน 20 วินาที หรือ แอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง

5. เมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ประมาณ 1 -2 เมตร หรือหนึ่งช่วงแขน

6. หลีกเลี่ยงการพูดคุย ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง

7. การทิ้งหน้ากากอนามัย ให้ทิ้งใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด จากนั้นทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบูร หรือ แอลกอฮอล์ 70% ทันที

8. เมื่อไอ จาม ให้ใช้ทิชชูปิดปาก ปิดจมูกถุงคางทุกครั้ง ทิ้งทิชชูใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิดจากนั้นทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที หากไม่มีทิชชูใช้ต้นแขนด้านใน

9. ทำความสะอาดบริเวณที่พัก ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 99 ส่วน) หรือเช็ดพื้นผิวสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ 70%

10. ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่นๆ ด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 70-90 องศา