'อีคอมเมิร์ซ-สั่งอาหารผ่านแอพ' พุ่งรับ 'WFH' -'โควิด' ดันไทยช้อปติดอันดับโลก

'อีคอมเมิร์ซ-สั่งอาหารผ่านแอพ' พุ่งรับ 'WFH' -'โควิด' ดันไทยช้อปติดอันดับโลก

บริการออนไลน์ทุกประเภท ระอุ หลังโควิดระบาดรอบใหม่ อีคอมเมิร์ซ ยอดพุ่งคนแห่ชอปช่วงกักตัว แอพสั่งอาหาร เร่งอัดโปร หนุน ขณะที่ สถิติ We are Social ประเมินโควิด ดันคนไทยช้อปเก่ง -อีเพย์เม้นท์ ติดอันดับโลก

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ สุ่มเสี่ยงต่อการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ และการประกาศของรัฐบาลให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เวิร์คฟอร์มโฮมอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังสงกรานต์ ส่งผลให้คนไทยกลุ่มใหญ่ต้องทำกิจกรรมอยู่ภายในที่พักอาศัยเท่านั้น “บริการออนไลน์ทั้งหลาย อีคอมเมิร์ซ สั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น” และอื่นๆ จึงเป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตต่อจากนี้

แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจทรุดหนัก ยอดการจับจ่ายอาจไม่ได้พุ่งสูงมาก ขณะที่ โควิดรอบนี้ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการใช้บริการออนไลน์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะในรอบปีที่ผ่านมา ร้านค้า และผู้ให้บริการ กระโดดจากออฟไลน์ลงสู่ออนไลน์อย่างเต็มพิกัด

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม กรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออีคอมเมิร์ซ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บริการออนไลน์จะโตขึ้นอย่างมาก หลังจากนี้ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีอัตราการเติบโตมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 14 วันที่คนบางกลุ่มต้องมีการกักตัว ยอดการใช้บริการออนไลน์ เช่น ซื้อสินค้า สั่งอาหารผ่านแอพ การทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก 

จับตา “ออนไลน์ เฟิร์ส” แข่งรุนแรง

"ดังนั้น โควิดในระลอกใหม่ มองว่า ร้านค้า หรือบริการต่างๆ ที่ปรับตัวจากออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์แล้วก่อนหน้านี้ จะมีรูปแบบการให้บริการ และมีโมเดลธุรกิจที่ลงตัวมากขึ้น จากการปรับตัวตั้งแต่เกิดโควิดช่วงปีที่ผ่านมา คำว่า ออนไลน์ เฟิร์ส ก็จะกลับมากลายเป็นวิถีที่ปกติ และจะมีมากขึ้น"

เขากล่าวต่อว่า โควิดรอบนี้ บริการออนไลน์ต่างๆ จะมีตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะการย้ายจากออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์ของร้านค้า บริการต่างๆ ลงมาให้บริการ มีการแข่งขันกันมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ดังนั้นยอดการจับจ่ายสินค้าต่างๆ หรือเม็ดเงินของอีคอมเมิร์ซจะเริ่มกระจายไปตามตัวเลือกที่มีมากขึ้น การแข่งขันที่มากขึ้นในสมรภูมินี้ แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขการค้าออนไลน์ยังคงมีเม็ดเงินสะพัดที่เยอะอยู่ การแข่งขันเพื่อที่จะดึงลูกค้าของแต่ละผู้ให้บริการก็จะมากขึ้น และน่าจับตาอย่างยิ่งนับจากนี้"

“ถ้าโควิดไม่จบ และคุมไม่อยู่ เกิดการล็อกดาวน์ จะส่งผลให้บริการออนไลน์ต่างๆ รวมถึงอีคอมเมิร์ซในประเทศเติบโตมาก เพราะที่ผ่านมา ฟู้ดดิลิเวอรี่ได้รับความนิยมมาก ขนส่งโลจิสติกส์มีความพร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นโควิดจะเป็นปัจจัยหนุนให้บริการออนไลน์โต 100% ส่วนอีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ จะเติบโตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอีมาร์เก็ตเพลส จะแข่งขันกันรุนแรง ด้วยรายใหญ่ที่ทุนหนาและอัดโปรโมชั่น รวมถึงแบรนด์จะลงมาเล่นในตลาดนี้เองทำให้มีความคึกคักอย่างมาก โดยจากนี้ จะตอกย้ำว่า ออนไลน์คือช่องทางหลักของคนไทยในการซื้อสินค้า ในหลายกลุ่มสินค้าหลังจากนี้ คนไทยจะซื้อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น”

“ไลฟ์สด” มาแรง-‘โซเชียลมาร์เก็ตติ้ง’แรง 

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” และนายกสมาคมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ระบุก่อนหน้านี้ว่า ปี 2564 ท่ามกลางโควิดที่ยังอยู่ในประเทศ ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงบริการออนไลน์ต่างๆ จะมีการเติบโตสูงขึ้นมาก 

ย้อนดูคาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในช่วงโควิดของตลาด B2C และ C2C ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาทในปี 2563 จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า ปีที่ผ่านมา จำนวนสินค้าใน 3 แพลตฟอร์มอย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้  และ เจดี เซ็นทรัล มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 32% และเมื่อดูผู้ขายจะพบว่า จำนวนพ่อค้าแม่ค้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ด้วยกัน ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัว และเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ หลายๆแบรนด์หันมาสร้างช่องทางการขายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภค โดยไม่ผ่านช่องทางการกระจายสินค้าเช่นเดิม จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า จำนวนร้านค้า Brand Official Shop ใน Shopee Mall และ Laz Mall มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นกว่า 46% ชี้ให้เห็นถึงแบรนด์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า ตลอดจนลูกค้าก็มีความรู้สึกมั่นใจได้ว่าการได้ซื้อสินค้าโดยตรงกับแบรนด์จะได้รับสินค้าที่ถูกต้อง ของแท้แน่นอน

Key Opinion Leader หรือ KOL จะได้รับความนิยมพุ่งสูงมากจากนี้ จากข้อมูลสถิติของ South China Morning Post พบว่า 60% ของรูปแบบ โซเชียล มาร์เก็ตติ้ง ที่มีประสิทธิภาพและช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด คือ KOL การที่แบรนด์สินค้าจะนิยมจ้างดารา นักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงมาโปรโมทสินค้าไม่ว่าจะเป็นผ่านไลฟ์สดหรือ บนโซเชียลมีเดียโพสต์สร้างยอดขายถล่มทลายให้กับแบรนด์สินค้านั้นๆ ได้มาก ซึ่งประเทศไทยยืนหนึ่งในการไลฟ์สดขายสินค้าเช่นกัน

ผลการสำรวจของเฟซบุ๊ค เมื่อเร็วๆ นี้ (ซึ่งมีคนไทย 1,000 คนตอบแบบสำรวจ) ชี้ว่า 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่าได้ลองชอปปิงผ่านการขายไลฟ์สดมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และ 28%ได้เกิดการซื้อของผ่านการไลฟ์สดในช่วงปีที่ผ่านมา และ84%ของคนกลุ่มนี้ก็ยังคงซื้อของผ่านช่องทางดังกล่าวทุกเดือน โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 9 ใน 10 คน หรือ 92% คาดว่าจะเพิ่มการซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีนี้

ฟีเจอร์ เฟซบุ๊ค ไลฟ์ เป็นหนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19ทำให้มีอัตราการใช้งานโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นถึง 26.8%

สั่งอาหารผ่านแอพ เร่งอัดโปรหนุน

ขณะที่ แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร “รายใหญ่” กล่าวว่า ได้มีการปรับระบบการจัดส่งอาหาร รวมถึงรับบหลังบ้านให้สอดคล้องกับปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งปัจจุบันการสั่งอาหารผ่านแอพ กลายเป็นวิถีปกติของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ภาพรวมคำสั่งซื้อยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ร้านค้าทั้งมีชื่อและสตรีทฟู้ด เข้ามาอยู่ในระบบการสั่งอาหารผ่านแอพมากขึ้น

“โควิดระลอกใหม่ มองว่า ยอดสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะเมื่อยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน บทบาทของการผู้ให้บริการออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การสั่งอาหารต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนจะขยายตัวสูงขึ้นอีก ไม่เพียงแค่สั่งอาหาร แต่ปัจจุบัน ยังมีบริการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคต่างๆ ด้วย”

นอกจากนี้ แต่ละผู้ให้บริการยังได้เตรียมออกแคมเปญต่างๆ โปรโมชั่นที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ที่จากนี้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งเชื่อว่าแต่ละรายมีการปรับระบบการบริหารจัดการ ระบบโลจิสติกส์ และมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ

โควิดดันไทย ‘ช้อปเก่ง’ ติดอันดับโลก

ขณะที่ ข้อมูลจาก We are Social แพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ทำการสำรวจ Global Digital Stat 2021 เปิดเผยสถิติ อีคอมเมิร์ซปี 2564 โดยระบุว่า วิกฤติโควิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยทั้งอีโคซิสเต็มส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

We are Social เผยสถิติว่า คนไทยช้อปออนไลน์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือราว 83.6% สูงกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับการชอปปิงออนไลน์ผ่านมือถือ คนไทยยังครองอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนที่มากถึง 74.2%

นอกจากนี้ สถิติยังเผยด้วยว่า สัดส่วนการใช้เงินบนออนไลน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา สินค้าประเภทแฟชั่นเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกใช้เงินมากที่สุด แต่หมวดอาหารและของใช้ส่วนตัวกลับมีการเติบโตสูงสุด 41% ผลมาจากการล็อกดาวน์ ที่ส่วนใหญ่มักใช้วิธีสั่งอาหารผ่าน​ฟู้ด ดิลิเวอรี่ มากกว่า และที่ลดลงมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวจากมาตรการห้ามการเดินทางทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย แม้อีคอมเมิร์ซจะขยายตัว แต่ตัวเลขยังอยู่แค่ 2.8% เท่านั้น นับว่าไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะโตบนออนไลน์นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่น่าสนใจ ชี้ว่า คนไทยใช้แอพธนาคาร หรือโมบาย แบงกิ้งสูงที่สุดในโลกด้วยตัวเลขที่มากถึง 68.1%