‘แผลเป็น’ จากโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1 และได้สร้างรอย "แผลเป็น" (economic scars) แม้ปัจจุบันยังคงมีมาตรการทางการเงินและการคลังของรัฐดำเนินอยู่

ไม่เคยมีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะเลวร้ายเท่ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1

ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน เมื่อการค้า การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ และเมื่อมีนโยบายการเงินและการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นประวัติการณ์ จีดีพีของไทยก็จะกลับเข้าสู่ระดับที่เคยเป็นเมื่อปี 2562 ในปีหน้านี้ และเศรษฐกิจก็จะกลับไปขยายตัวตามศักยภาพที่เคยมีก่อนหน้าโควิด-19 เพราะเราเคยเชื่อทฤษฎีวัฏจักรธุรกิจ (business cycle) กันในอดีตที่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว หดตัว ขึ้นลงเป็นวัฏจักร ตามแนวโน้มของศักยภาพของการเจริญเติบโตในระยะยาว

แต่ไม่น่าจะใช่อีกต่อไป เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้หลังจากวิกฤติหลายครั้ง ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อกันว่าวิกฤติแม้จะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ แต่บาดแผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสร้างรอย “แผลเป็น” (economic scars) ไปอีกยาวนาน ทำให้ศักยภาพของการขยายตัวในระยะยาวลดน้อยลง ยิ่งเป็นประเทศยากจน ศักยภาพของการเจริญเติบโตจะยิ่งลดลงมากจาก “แผลเป็น”

  • รอย “แผลเป็น” นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรก วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 สร้างหนี้ ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน หนี้ภาครัฐของประเทศต่างๆ สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินทางด้านสาธารณสุขเพื่อลดการระบาดของโรค จำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลงเพราะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้การขาดดุลงบประมาณและหนี้ภาครัฐสูงขึ้น

ในช่วงเวลาเพียง 5 เดือน หนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 49.34 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 53.21 เมื่อสิ้น ก.พ.2564 ยังไม่นับส่วนที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ที่โครงการต่างๆ ของรัฐยังไม่เสร็จสิ้นลง ยังต้องใช้จ่ายเงินเพื่อจัดการกับการระบาดระลอกใหม่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก

หากรัฐจะรักษาวินัยทางการคลัง โดยดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี ก็คงมีผลกับการตั้งงบประมาณในหลายปีต่อจากนี้ให้ขาดดุลน้อยลง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้จ่าย การลงทุนของภาครัฐ และต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด

ส่วนหนี้ภาคเอกชนก็สูงขึ้นในช่วงวิกฤติ เพราะรายได้ลดลง มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนและการจ้างงาน หรือการวิจัยและพัฒนาในช่วงต่อไปและลดทอนศักยภาพในการขยายตัวของประเทศ ส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่เป็นปัญหาอยู่แล้วก่อนโควิด-19 ก็จะยิ่งสูงขึ้นอีก จากการถูกเลิกจ้างและรายได้ลดเกินระดับร้อยละ 85 ของจีดีพี ที่ถือเป็นระดับอันตรายต่อการขยายตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว

ประการที่สอง วิกฤติที่เกิดขึ้นลดปัจจัยการผลิตลง ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวในระยะยาว เมื่อเกิดวิกฤติและเลิกจ้าง แรงงานบางส่วนไหลไปที่ภาคเกษตร หรือเข้าไปใน informal sector บางส่วนทำงานไม่เต็มเวลา และก็มีที่ออกไปจากตลาดแรงงานเป็นการถาวร วิกฤติสั้นๆ กลับกลายเป็นการลดลงของรายได้อย่างถาวร และลดการบริโภคและขยายตัวในระยะยาว ส่วนปัจจัยทุนก็จะไม่เพิ่มมากเพราะการลงทุนลดลง มีธุรกิจที่เลิกกิจการหรือถ้าประคองตัวอยู่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้สินค้าทุนที่เสื่อมค่าสึกหรอ เทคโนโลยีที่มากับเครื่องจักรใหม่จะมีน้อยลง ลดศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

ประการต่อมา โควิด-19 สะท้อนให้เห็นปัญหาการกระจายรายได้ของไทยชัดเจนมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้จะมีมากขึ้นไปอีกหลังจากที่เราผ่านวิกฤตินี้ไปแล้ว เพราะจะมีคนจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจที่รัฐต้องมีภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ที่อาจมีผลต่อการลงทุนของรัฐและการขยายตัวของประเทศในระยะยาว

สุดท้าย ถ้าเราเชื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม วิกฤติเศรษฐกิจจะมีผลทางจิตวิทยาที่จะทำให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป นักเศรษฐศาสตร์ เช่น Ulrike Malmardier ที่ Berkeley แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่คนเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจจะมีพฤติกรรมที่ “เข็ด” และไม่ยอมรับความเสี่ยงไปอีกนาน เช่น ธุรกิจจะกู้เงินเพื่อลงทุนน้อยลง จ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็จะระมัดระวังการใช้จ่าย หรือการได้เห็นธุรกิจที่มั่นคงซวดเซหรือล้มละลาย ก็จะทำให้คนไม่อยากทำธุรกิจไปอีกนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการขยายตัวในระยะยาว

คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า รอย “แผลเป็น” จากโควิด-19 ของไทยจะกว้าง ลึก และคงอยู่นานแค่ไหน เพราะขณะที่มีมาตรการทางการเงินและการคลังต่างๆ ของรัฐดำเนินอยู่ ย่อมไม่สามารถทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจและครัวเรือนชัดเจน เมื่อมาตรการเหล่านี้หมดไป คงจะทำให้เราเห็นรอย “แผลเป็น” ชัดเจนขึ้น

การทำนโยบายเศรษฐกิจภายใต้รอย “แผลเป็น” เหล่านี้ควรเป็นอย่างไร คงต้องเป็นคราวหน้าค่ะ