สบน.เล็งออกบอนด์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

สบน.เล็งออกบอนด์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

สบน.เล็งออกบอนด์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีวงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวคิดออกบลูบอนด์​ บอนด์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและบอนด์เพื่อผู้ต้องขัง

นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า สบน.อยู่ระหว่างศึกษาการออกพันธบัตรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือ บลูบอนด์(Blue bond) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทะเลไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

เธอกล่าวว่า บลูบอนด์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals ซึ่งที่ผ่านมาสบน.ก็ได้ออกกรีนบอนด์(green bond) และ โซเชียลบอนด์ (Social bond) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะที่ แนวคิดการออกบลูบอนด์เพื่อรักษาทะเลไทย ก็จะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ท้าทาย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทะเลไทย ที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งการท่องเที่ยวไทยถือเป็นเซ็คเตอร์ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 12 % ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการออกบลูบอนด์ ก็คือ จะต้องหาโครงการที่สอดคล้องกับหลักการของบลูบอนด์และต้องเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มากพอ ซึ่งสบน.กำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การออกบลูบอนด์อาจแตกต่างจากการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อาจวัดผลตอบแทนของการลงทุนว่าจะมีกำไรกลับมาเท่าไหร่ได้ แต่สำหรับบลูบอนด์อาจไม่สามารถวัดได้ตรงๆ แต่หากเรามีโครงการดีๆที่สามารถนำขยะออกจากท้องทะเลไทยได้ ทำให้ทะเลไทยใสสะอาดอย่างยั่งยืน นั่นจะเป็นการสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่สำคัญ เช่น ในช่วงโควิด-19ที่การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทะเลไทยก็มีโอกาสฟื้นตัว แต่เราจะทำอย่างไรให้มันเกิดความยั่งยืน เป็นต้น

กระทรวงการคลังจะพยายามใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจาก การออก Green bond , Social bond และในอนาคตอาจมี Blue bond แล้ว สบย.ยังคิดถึงการออกพันธบัตรเพื่อตอบโจทย์ความเท่าเทียมกันทางเพศ หรือ Gender Equality โดยระดมเงินผ่านการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงการที่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือแม้แต่การออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการพัฒนาผู้ต้องขัง เพื่อให้เมื่อออกจากเรือนจำแล้ว สามารถกลายเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศไม่เป็นภาระต่อสังคมต่อไป

เธอกล่าวอีกว่า พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก และอัตราดอกเบี้ยเท่าที่สบน.เคยประมูลในการออก green bond ก็ไม่ได้เป็นอัตราที่สูง ซึ่งสบน.ได้กำหนดเป็นนโยบายเลยว่า ต่อไปนี้การออกพันธบัตรระยะยาว 15 ปี เราจะเป็นพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนทั้งหมด

สำหรับสถาบันหรือบริษัทเอกชนที่ซื้อพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนนั้น ก็เท่ากับเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและ มีธรรมาภิบาลตามหลักการ Environment Social Governance (ESG)

ทั้งนี้ สบน.เริ่มออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในปี 2563 เพื่อระดมเงินทุนสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี และโครงการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปัจจุบันวงเงินคงค้างในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสบน.ตั้งใจจะให้มีวงเงินคงค้างไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อให้มีสภาพคล่อง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสบน.ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติหลายรางวัล

สำหรับGreen bond เริ่มได้รับความนิยมในหลายๆประเทศทั่วโลก ทำให้วงเงินในการออก green bond สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากปี 2553 ที่มีการออก green bond ทั่วโลกเพียง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ พอมาในปี 2562 วงเงินการออกgreen bond ทั่วโลกสูงถึง 2.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐ