'ผู้สูงวัย' ปรับตัว ปรับใจ อย่างไร ในยุคดิสรัป

'ผู้สูงวัย' ปรับตัว ปรับใจ อย่างไร ในยุคดิสรัป

เมื่อสังคมเปลี่ยน ความแข็งแรงของร่างกายเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับสถานการณ์ไม่คาดคิดอย่างโรคระบาด ความไม่สงบ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปความเป็นอยู่แบบเดิมๆ "ผู้สูงวัย" ควรจะปรับตัว ปรับใจ อย่างไร เพื่อให้อยู่ได้อย่างมีความสุข

ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุขผู้สูงอายุไทยนับว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงกังวลระดับชาติ ซึ่งเห็นได้จากความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพจิต และแนวโน้มที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ยิ่งในยุคที่สังคมถูกดิสรัปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และเทคโนโลยี ทำให้ผู้สูงอายุอาจปรับตัวไม่ทันต่อสถานการณ์

ข้อมูลจาก การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ (อาการเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า) ปี 2562 และ 2563 โดยทีมคณะผู้วิจัยจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการจุฬาอารี” พบว่าพื้นที่กทม.ในชุมชนเมืองที่เพิ่งมีการขยายตัว เช่น เขตวังทองหลาง ผู้สูงอายุมีปัญหาทางสุขภาพจิต ได้แก่ เครียด 32.6% วิตกกังวล 49.2% ซึมเศร้า 47.1% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ในพื้นที่ สระบุรี ปี 2558 พบว่า ผู้สูงอายุมีอาการของปัญหาทางสุขภาพจิตน้อยกว่าในพื้นที่ กทม. ได้แก่ เครียด 13.5% วิตกกังวล 35.9% ซึมเศร้า 15.5 % ตามลำดับ

  • ปัจจัยส่งผลต่อจิตใจ "ผู้สูงวัย"

“ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์” รองคณบดี และ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่สูญเสียกำลังวังชาจากสุขภาพที่เสื่อมถอยลง สูญเสียมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ทางสังคมไป อัตราส่วนของผู้ที่อยู่อาศัยลำพังในชีวิตบั้นปลายมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุในปัจจุบันก็อาจแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะของสังคมที่มีความเป็นสังคมเมืองหรือสังคมกึ่งเมือง

“ขณะที่สถานการณ์ในสังคมปัจจุบันทั้งเรื่องโควิด 19 ความไม่สงบจากสถานการณ์ทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้คนในบ้าน และคนรอบตัวต้องรัดเข็มขัด ย่อมส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัยในสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

161833170263

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

  • สร้างพลัง "ผู้สูงวัย" ใจแข็งแรง 

การศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง แยกตัวออกจากสังคม มักมีความรู้สึกโดดเดี่ยว มีส่วนร่วมทางสังคมต่ำ และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต (วิตกกังวลและซึมเศร้า) และคุณภาพชีวิตต่ำ ข้อมูล ปี 2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว (เทียบกับมีคนอยู่ด้วย และอยู่กับครอบครัว) พบว่า เสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตมากที่สุด ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือชุมชนของตนเอง จะยืดอายุการพึ่งพาตนเอง มีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน ทำให้รู้สึกมั่นคงในใจ ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ ล้วนช่วยสนับสนุนสุขภาวะทางใจ และคุณภาพชีวิต

161833170242

ทั้งนี้การเสริมสร้าง “ความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าความหมาย-ความมั่นคงทางใจ” ให้แก่ผู้สูงอายุนั้น บางส่วนเป็นผลจากการลงพื้นที่ของทีมผู้วิจัยจากคณะจิตวิทยา ภายใต้โครงการจุฬาอารี ใน 2 ปีที่ผ่านมา ได้สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ใกล้ชิดผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน พบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ดี มีสุข สุขภาพจิตดี มีสุขภาวะ ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ประเด็นแรก คือ “ความรักผูกพัน ดูแลใส่ใจ ในชีวิตประจำวัน” เป็นเรื่องสำคัญลำดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ความสัมพันธ์กับคนวัยเดียวกันและเพื่อนบ้าน การทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย รำไทเก๊ก เล่นหมากรุก เป็นต้น

ถัดมา คือ การได้รู้ว่า “ตนเป็นที่รัก คนสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของคนรอบข้าง” ไม่ว่าจะเป็นความใส่ใจดูแล ห่วงใยของลูกหลาน แม้ว่าจะไม่พบหน้าผู้สูงอายุในช่วงระหว่างวัน การที่ลูกโทรศัพท์มาพูดคุยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ มีความมั่นคงในใจ การพูดคุยเล่าเรื่องที่อึดอัดใจและได้รับคำปลอบใจจากเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย ได้อาศัยไหว้วานกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึงช่วยกันดูแลลูกหลานในชุมชน ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง ทำให้ไม่เครียด ไม่ฟุ้งซ่าน มีความรู้สึกสนุกเพลิดเพลินใจ

161833170256

“แน่นอนว่าคนในครอบครัว และคนรอบข้าง คนละแวกบ้าน นับเป็นพื้นที่ทางใจและเป็นแหล่งพลังงาน ที่มีส่วนช่วยในการลดความกังวลใจ และสร้างกำลังใจ ความเข้มแข็งทางใจให้แก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมาก”

  • "ผู้สูงวัย" ปรับตัวอย่างไรในยุคดิสรัป

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา กล่าวต่อไปถึงการปรับตัวของผู้สูงอายุต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิสรัปชั่นว่าสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ ปรับตัวได้ง่าย คือ การที่ผู้สูงอายุยังคงมีกิจกรรมการดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้แข็งแรง เช่น ดูแลอาหาร ออกกำลังกาย รวมถึงการยังคงทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ดูแลหลาน การทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความไม่เคร่งเครียด

161833170254

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่พึ่งพาตนเองได้ สามารถแบ่งเบาภาระให้กับลูกหลานได้ และนำมาสู่การปรับตัวได้ง่าย นอกจากดูแลสุขภาพร่างกายแล้ว การดูแลสุขภาพใจ ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะ การดูแลใจให้สุขสงบ มองชีวิตในมุมบวก ปล่อยวางได้ เข้าใจโลกและชีวิต

  • เตรียมพร้อมสู่ "สังคมสูงวัย"

ทั้งนี้ การเตรียมตัวสู่เป็นการเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพกาย-ใจ-สังคมดี หรือเป็นผู้สูงวัยเปี่ยมสุข (หน้าตาอ่อนเยาว์ ปราศจากโรค รูปร่างผอมเพรียว ความคิดเฉียบคม ชีวิตมีสีสัน เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความสุขกับสิ่งที่ทำ) เป็นการสะสมแต้มต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยก่อนเป็นผู้อายุ หัวใจสำคัญของการเตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงวัยเปี่ยมสุข เช่น การเรียนรู้ที่จะเปิดใจและมีความพร้อมในพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

161833170217

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเป็นผู้สูงวัยเปี่ยมสุขเกิดจากการสั่งสม และหล่อหลอมประสบการณ์ต่างๆในชีวิตของคนเราอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยทำงาน จนเข้าสู่วัยสูงอายุ นอกจากการเปิดใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว การเตรียมตัวเข้าสู่การสูงวัย คนเราต้องฝึกละวาง “สิ่งที่เกินกำลัง” ทำสิ่งต่างๆ เต็มกำลังความสามารถ ไม่จมอยู่กับความผิดพลาด

รวมถึงการไม่ติดอยู่เฉพาะกับบุคคลที่ตนเองคุ้นเคยเท่านั้น ซึ่งจะทำให้รับมือกับการพลัดพรากสูญเสียกับคนสำคัญๆ ในชีวิตได้ง่าย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีสติรู้ตัวเท่าทันตนเอง อันจะทำให้เกิดปัญญา เข้าใจชีวิต ปล่อยวางเป็น สามารถทำใจยอมรับทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จได้

161833170262

ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผู้สูงอายุและครอบครัวหลายบ้านอาจต้องจำกัด หรือละเว้นการเดินทาง ช่วงเวลาแบบนี้บ้านได้กลายเป็นพื้นที่ของทุกคน ทุกวัย กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันเกือบ 24 ชั่วโมง 7 วัน อีกครั้ง แน่นอนว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจกันและกัน” มีความสำคัญกับคำว่าบ้านในช่วงเวลานี้อย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ นับเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจให้ทุกคนในบ้าน รวมถึงผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า นำไปสู่การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และทำให้การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีคุณภาพ

" การสร้างพื้นที่ทางใจ เสริมสร้างสุขกาย สุขใจ สุขสังคมในผู้สูงอายุ สิ่งที่คนในบ้านอาจต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกๆ คือ บ้านต้องเป็นพื้นที่ซึ่งผู้สูงอายุและคนในบ้านรู้สึกสนิทใจ สบายใจ และมีตัวตน” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา กล่าวทิ้งท้าย  

161833184160