เปิดแผนกลยุทธ์จีน สร้าง Demand ภายใน ทุ่มวิจัยเทคโนโลยี

เปิดแผนกลยุทธ์จีน สร้าง Demand ภายใน ทุ่มวิจัยเทคโนโลยี

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน นับเป็นเข็มทิศสำคัญที่จีนใช้กำหนดแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศ

'จีน' ประเทศมหาอำนาจเบอร์ต้นของโลกที่ได้รับความสนใจในทุกความเคลื่อนไหว แม้จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ แต่จีนก็นำพาตัวเองผ่านพ้นมาได้ทุกครั้ง และยังครองตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดในโลก

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน นับเป็นเข็มทิศสำคัญที่จีนใช้กำหนดแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-Year Plan) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด สำหรับปี 2021–2025 เป็นแผนพัฒนาฉบับแรกของจีนที่ไม่มีการกำหนดเป้าหมาย GDP แต่เป็นการตั้งเป้าหมายในด้านอื่นแทน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้จีนพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ โดยจีนวางแผนจะเพิ่มการทุ่มงบประมาณในด้านการค้นคว้าวิจัยไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี ซึ่งทำให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก

สำหรับเทคโนโลยีพื้นฐานที่จีนให้ความสำคัญและเตรียมทุ่มงบประมาณในการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การผลิตชิปเซมิคอนดัคเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของจีน แต่ยังช่วยให้จีนลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย ดังเช่นช่วงที่ผ่านมาที่เกิดกรณีสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้จีนไม่สามารถนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ได้ และส่งผลให้การผลิตสินค้าบางอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ หยุดชะงักลง

ขณะเดียวกัน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 นี้ จีนยังให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อปรับปรุงสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาจีนนับเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จีนให้ความสนใจและสนับสนุน โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน 20% ขึ้นไปจะเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ และในปี 2035 จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด (ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 5%)

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้จีนกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้แผนพัฒนาฉบับนี้ โดยใช้ชื่อ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) เป็นการใช้ความได้เปรียบทางด้านจำนวนประชากรจีนที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน สร้างอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเน้นการพึ่งระบบการหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation) เป็นหลัก ทั้งวงจรการผลิต การกระจายสินค้า และการบริโภค ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งระบบการหมุนเวียนภายนอกประเทศ (External Circulation) เพื่อหนุนนำระบบภายในประเทศ กลยุทธ์นี้หากทำสำเร็จ จะทำให้จีนสามารถสร้างตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศขึ้นมาได้ และคาดว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อีกมหาศาล แม้จะเกิดวิกฤตโลกครั้งต่อไป จีนก็จะยังแข็งแกร่งได้ด้วยตัวเอง

ในวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ จีนนับเป็นประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีที่สุด โดยล่าสุด IMF ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจาก COVID-19 เร็วที่สุด และในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ จีนจะกลายเป็นกำลังหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และอินเดีย

การลงทุนในหุ้นจีนช่วงหลังจากนี้นับว่าน่าสนใจมาก ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ในไทยมีกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นจีนมากมายหลากหลายกองทุน การเลือกกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนสอดคล้องกับกลยุทธ์การบริหารประเทศของจีนนับว่ามีความสำคัญมาก โดยจากกลยุทธ์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 จะเห็นว่าจีนมุ่งเน้นการสร้างการบริโภคในประเทศและทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น หากเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนของจีนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการบริโภคเป็นหลักและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แนวนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศของจีน คาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุนได้เป็นอย่างดี

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager