กรมการแพทย์ยันรพ.เอกชนยังมีเตียงว่างรับ'โควิด19'เกือบ300เตียง

กรมการแพทย์ยันรพ.เอกชนยังมีเตียงว่างรับ'โควิด19'เกือบ300เตียง

กรมการแพทย์ยันรพ.เอกชนยังมีเตียงว่างเกือบ 300 เตียง ขอความร่วมมือรับส่งต่อข้ามเครือข่าย กรณีคนไปตรวจที่เอกชนพบติดเชื้อยังไม่มีเตียงโทรประสาน 1668 ขณะที่รพ.รัฐรองรับผู้ติดเชื้อทุกรายจากที่ตรวจในรพ.รัฐ-การค้นหาเชิงรุกทั้งหมด

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ว่า กรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพทำงานเรื่องนี้กับเครือข่ายต่างๆมากว่า 1 ปี ทั้งกทม. เหล่าทัพ โรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชน ซึ่งในการระบาดระลอกแรก ในพื้นที่กทม.มีเตียงประมาณ 2,000 เตียง เป็นเตียงรพ.เอกชน82 แห่ง จำนวจ 1,650 เตียง คิดเป็น 65.4% โดยระลอกแรกรพ.เอกชนรับผู้ติดเชื้อราว 40%

"ส่วนการสำรวจล่าสุดเมื่อเวลา 20.00น. วันที่ 8 เม.ย.2564 พบว่า รพ.เอกชนในพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีเตียงทั้งหมด 717 เตียง และยังว่างอีก 293 เตียง แต่ปัญหาเกิดเนื่องจากรพ.เอกชนบางเครือข่ายเตียงค่อนข้างล้น แต่บางเครือข่ายรพ.เอกชนเตียยังว่าง จึงอยากขอความร่วมมือรพ.เอกชนในการประสานระหว่างกัน เพื่อรับการส่งต่อผู้ติดเชื้อจากต่างเครือข่ายรพ.เอกชนด้วย จะทำให้คนไทยมีเตียงเพียงพอที่จะได้รับการดูแล"นพ.สมศักดิ์กล่าว


นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการบริหารจัดการเตียงที่ใช้ร่วมกันมากว่า 1 ปี คือ 1.เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องให้ผู้ติดโควิด 19 ทุกราย ได้รับการรักษาในรพ. 2.รพ.ที่ตรวจหาเชื้อและพบผู้ติดเชื้อต้องรับผู้ติดเชื้อนั้นเข้ารับการรักษาหรือต้องประสานในเครือข่ายของรพ.เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในรพ.ทุกราย และ3.รพ.เอกชนที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ ควรประสานภายในเครือข่ายรพ.เอกชนด้วยกัน เพื่อรับผู้ป่วยไว้ในรพ.


ส่วนรพ.รัฐนั้นจะรับผู้ป่วยในกรณีที่มาตรวจหาเชื้อในรพ.รัฐ รวมถึง รับผู้ป่วยทั้งหมดที่ตรวจพบติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นจากกรณีตลาดบางแค หรือ ผับบาร์ สถานบันเทิง จะเป็นการรับผู้ป่วยไว้ในรพ.รัฐทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ได้รบกวนรพ.เอกชน

สำหรับการเตรียมการบริหารจัดการเตียง กรณีที่รพ.เอกชนไม่รับผู้ป่วยข้ามเครือข่ายรพ. คือ 1.จัดหาฮอสพิเทล โดยการนำโรงแรมมาทำเป็นรพ.ภายใต้การดูแลของสถานพยาบาล เพื่อรับดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีอาการน้อย และไม่มีโรคแทรกซ้อน ปัจจุบันจัดหาได้แล้ว 800 เตียง และพรัอมเปิดให้บริการในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จำนวน 200-300 เตียง และจะจัดหาให้ได้ราว 1,000 เตียง ภายใน 1-2 วัน 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เตรียมเปิดรพ.สนาม 450 เตียง ภายในสัปดาห์นี้ 3.กรมการแพทย์จัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยกรณีพิเศษ ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.)รับได้ทันที 40 เตียง และ4.หากรพ.เอกชนประสานส่งต่อข้ามเครือข่ายรพ.เอกชนได้ ก็จะมีเตียงเพิ่มอีก 200-300 เตียง

"สำหรับผู้ติดเชื้อที่อาจจะไปตรวจหาเชื้อที่รพ.เอกชนแล้วยังไม่มีเตียงรองรับเข้าดูแลให้โทรประสานที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปตรวจหาเชื้ออยากขอให้เข้าปรพเมินความเสี่ยงตัวเองก่อนผ่านแอปฯของรพ.ราชวิถี หากมีความเสี่ยงต่ำอย่าเพิ่งไปเข้ารับการตรวจ เพราะอยากให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนที่รพ.รัฐ ส่วยรพ.เอกชนหากได้เตียงเพิ่มคงกลับมารับการตรวจหาเชื้อต่อไป"นพ.สมศักดิ์กล่าว