เมื่อคำว่า 'มรดก' ไม่ใช่เรื่องเก่าอีกต่อไป

เมื่อคำว่า 'มรดก' ไม่ใช่เรื่องเก่าอีกต่อไป

เมื่อพูดคำว่า "มรดก" หลายคนจะคิดถึงอาคารเก่า โบราณสถาน วัดวาอารม หรือสิ่งที่แตะต้องได้ยาก แต่ความเป็นจริง มรดก หมายถึงทุกๆ สถานที่มองว่ามีคุณค่า "การอนุรักษ์" จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของการออกแบบ ที่ทำอย่างไรให้ผสานสิ่งเก่าและใหม่อย่างลงตัว

เทรนด์การออกแบบอาคารที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน สิ่งที่คุ้นชิน คือ การเน้นเรื่อง Green ประหยัดพลังงาน การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการผลักดันกฎหมายให้อาคาร หรือ สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ให้ออกมาในเชิงสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการออกแบบครอบคลุมด้านสุขภาวะมากขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เรื่องของการออกแบบอาคาร ภายใต้ความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า นำมาสู่เรื่องของ “มรดก” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน โดยตอบโจทย์ทั้งการอนุรักษ์สิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตใจ รวมถึงตอบสนองความคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่า ตึกเก่าแทนที่จะรื้อทำลาย เป็นเศษวัสดุ แต่สามารถประหยัดได้ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เช่น คลังเก่า โกดังเก่า มีเทคเจอร์ สามารถนำมาปรับใช้ได้ ดีกว่ารื้อ และสร้างใหม่

ดร.วสุ โปษยะนันทน์” สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน และประธานจัดงานสถาปนิก’64 อธิบายว่า ในต่างประเทศการอนุรักษ์เกิดขึ้นมาก่อนประเทศไทย สืบเนื่องจากกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป มีลักษณะเมืองเก่า มีกฎหมายในเรื่องของการห้ามรื้อทำลายอาคารเก่า ควบคุมการก่อสร้างภายในเมืองเก่า เพื่อรักษาสภาพ ดังนั้น สถาปนิกหรือดีไซเนอร์ จึงต้องหาทางแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตได้ดีในยุสมัยใหม่ที่มีความสะดวกสบายตามที่เราต้องการ ภายในกรอบของการรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรม

161791108746

พอเริ่มมีผลงานที่ทำให้เห็นว่า สามารถใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่ ในพื้นที่เก่า และคุณค่าก็ยังได้ เป็น Win Win Solution ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโบราณสถานหรือของเก่าไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ห้ามแตะต้อง แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ให้ความรู้สึกทันสมัย เทรนด์นี้จึงแพร่ไปเรื่อยๆ กลายเป็นแฟชั่น กลายเป็นความเก๋ ถือเป็นทรนด์ที่ได้ประโยชน์

ดร.วสุ กล่าวต่อไปว่า กลับมามองในประเทศไทย แม้ความหมายของคำว่าโบราณ จะสื่อถึงคุณค่าที่เก่าแก่ แต่ภาพจำหลายคนมองว่าเก่า คร่ำครึ ล้าสมัย หรือเป็นเรื่องนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ที่มาดูแลเท่านั้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของสถาปนิกกรมศิลป์ฯ

“ความจริงแล้ว “มรดก” ไม่ใช่เพียงแค่วัด หรือโบราณสถาน แต่คือทุกอย่างที่เราคิดว่ามีคุณค่า จึงเรียกว่า “มรดก” หากเปรียบเทียบว่าสร้างใหม่หรือรักษาของเก่าง่ายกว่า ? บางคนอาจคิดว่าสร้างใหม่ง่ายกว่า แต่มันคือการเสียโอกาส แต่การออกแบบไม่ว่าจะเป็นงานเก่า หรืองานใหม่ ก็ต้องศึกษาว่าบริบท พื้นที่ว่ามีประโยชน์อะไรอยู่ ทั้งต้นไม้ สภาพแวดล้อม ป่าไม้ แดด ลม จับเอาคาแรคเตอร์ ที่น่าสนใจมาใช้ในการออกแบบ ดังนั้น การที่มีอาคารเก่าในพื้นที่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพื้นฐานที่ใช้ในการออกแบบเช่นกัน หากในพื้นที่มีอาคารเก่าที่สวยมาก งานดีไซน์หากฉลาดที่ใช้ทุกองค์ประกอบให้มีคุณค่า และเป็นประโยชน์จากงานดีไซน์ ก็จะได้งานออกแบบที่ดี

161791118314

“อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความยาก ความง่าย บางทีรื้อทิ้งสร้างใหม่ง่ายกว่าแต่ก็จะเสียคุณค่าที่มีอยู่ จริงๆ คนมักจะพูดว่างานอนุรักษ์แพง แต่นั่นเพราะเรารอจนถึงปลายทาง งานอนุรักษ์ทั้งหลายมักจะรอให้ตึกโทรมมากจนจะพังจึงค่อยมาอนุรักษ์ แต่หากเรามีแนวความคิดว่าอาคารนั้นมีคุณค่าจะไม่โทรมเพราะจะเกิดการดูแล รักษา ใช้งานต่อเนื่อง และได้รับการดูแลมาอย่างดี ถูกกว่ารื้อทิ้งสร้างใหม่แน่นอน แต่หากปล่อยจนโทรมแล้ว หลายครั้งก็เหมือนสร้างใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบเดิม จึงมีทั้งค่ารื้อถอน เทคโนโลยีเก่า หรือไม้ที่แพงมาก” ดร.วสุ กล่าว

ทั้งนี้ ความเป็น "มรดก" มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งสิ่งก่อสร้าง ภูมิปัญญาแนวคิดที่ซ่อนอยู่ พัฒนาการฝีมือช่างผสมผสานกันอยู่ ไม่ใช่มุ่งการอนุรักษ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนำภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาในอดีตมาต่อยอด ปัจจุบัน จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า “มรดก” ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าห้ามแตะต้อง ให้ประโยชน์กับคนปัจจุบันอย่างเต็มที่รวมไปถึงในอนาคตด้วย

161791108717

ดร.วสุ กล่าวต่อไปว่า การเล่นเรื่องมรดก จึงใช้คำว่า Refocus” ปรับมุมมองกันใหม่ แทนที่จะมองว่าเป็นโบราณสถาน ให้มองว่าเป็นมรดก เพื่อให้ใกล้ตัวเรามากขึ้น ให้มองว่านี่คือของๆ เรา และมีคุณค่า จะดีไซน์อย่างไรให้ดูแลรักษาคุณค่านั้นไว้ ดังนั้น หากในพื้นที่มีสิ่งปลูกสร้างเก่า หรือ มองว่านั่นคือ มรกด สิ่งที่ควรจะทำ คือ ทำความเข้าใจว่า คุณค่าของอาคารอยู่ตรงไหน มีคุณค่าหรือไม่

การอนุรักษ์ ในแนวทางปัจจุบัน เป็นแนวทางอนุรักษ์ตามคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่ว่ามีอาคารเก่าอยู่หลังหนึ่งแล้วเก็บทุกอย่างไว้เหมือนเดิม แต่ต้องดูว่าอาคารนี้อะไรคือสิ่งที่มีความสำคัญ และเรียงลำดับความสำคัญ ตรงไหนที่สำคัญมาก ก็ต้องเก็บเอาไว้ อะไรที่มีความสำคัญน้อยลงมา อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีวัสดุใหม่เข้าไปได้ อาจจะปรับให้ดูแลรักษาง่ายขึ้น เพราะบางคนพอเป็นเจ้าของอาคารเก่าก็เกิดความกลัวว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่กล้าแตะต้อง ปิดไว้ ก็ยิ่งโทรมไปกันใหญ่ จากที่โทรมอยู่แล้ว”

ในปัจจุบัน ยังไม่มีสถาปนิกสำหรับอนุรักษ์โดยเฉพาะ แต่สถานปนิกทุกคนสามารถทำได้เพราะจากวิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัยมีอยู่ ผ่านการเรียนรู้มาแล้ว แต่หลายคนมองว่ามีสถาปนิกที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในกรมศิลปากรอยู่ ซึ่งจริงๆ มีเพียง 10 คนทั้งประเทศ แต่จริงๆ ทำได้ อย่างที่บอกเหมือนกับการออกแบบทั่วไปที่ต้องมองว่าในไซน์งานมีอะไรที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่า ที่จะเอามาใช้ในงานดีไซน์ของเราได้ นั่นก็คือการอนุรักษ์

161791118316

“สถาปนิกควรจะเป็นเหมือนผู้จัดการ หากเปรียบวงดนตรีก็ คือ คอนดักเตอร์ (Conductor) ที่คอยประสานให้เครื่องดนตรีต่างๆ ประสานออกมาทำให้เพลงออกมาเพราะ เหมือนกับงานออกแบบจะออกมาดีได้ สถานปนิกควรจะทำหน้าที่เป็นคนที่ประสานเอาระบบต่างๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับงาน ออกมาให้มีส่วนผสมกับงาน และดีที่สุด”

“คิดว่านี่คงไม่ใช่เทรนด์ที่มาแล้วล้าสมัย เพราะ การ Refocus มาจากความจำเป็น และข้อเท็จจริงว่า มีมรดกเหล่านี้อยู่ และแนวโน้มของสังคมเราเองก็เริ่มจะเห็นคุณค่า แต่ไม่ควรจะอยู่ในลักษณะที่เป็นแฟชั่นเกินไป สิ่งเหล่านี้ไม่ควรสร้างขึ้นมาใหม่ที่ทำให้เหมือนเก่า อาจจะไม่ยั่งยืน” ดร.วสุ กล่าวทิ้งท้าย

  • มองเก่า ให้ใหม่

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊คงานสถาปนิก ได้ยกตัวอย่าง 5 ห้องสมุดจากอาคารเก่า มาทำใหม่ให้สวยและมีประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ LocHal Public Library” เนเธอร์แลนด์ รีโนเวทจากโรงเก็บหัวรถจักรก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นห้องสมุด co-working space ศูนย์ประชุม และศูนย์จัดแสดง Beyazit State Library” ตุรกี ห้องสมุดรีโนเวทจากมัสยิดยุคจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1299–1922) เดิมเป็นเพียงโรงครัวของที่พักกองคาราวานเท่านั้น

Pierre Bottero Media Library” ฝรั่งเศส ปรับปรุงจากอาคารที่พักอาศัย Maison Maureau ในปี ค.ศ. 1642 สู่งานดีไซน์ที่รวมของเก่าและใหม่ที่ลงตัว Not Just Library” ไต้หวัน รีโนเวทขึ้นจากโรงอาบน้ำเก่า ให้เป็นห้องสมุด ที่จัดนิทรรศการ งานอบรม และอีเวนต์ต่างๆ สุดท้าย ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” ประเทศไทย รีโนเวทจากอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศในปี 2512 ให้เป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม co-working space และร้านกาแฟ 

ติดตามความน่าสนใจของงานสถาปัตยกรรมและความรู้ด้านการออกแบบ “มองเก่า ให้ใหม่” (Refocus Heritage) ได้ที่ งานสถาปนิก'64 ที่ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 วันที่ 22-27 มิถุนายนนี้