วัดรอย(อุ้ง) เท้าคาร์บอน เมื่อสุนัขทำโลกร้อน

วัดรอย(อุ้ง) เท้าคาร์บอน เมื่อสุนัขทำโลกร้อน

ลูกสุนัขที่แสนน่ารักของคุณเป็นอันตรายต่อโลกพอๆ กับรถเอสยูวีติดแก๊ซจริงหรือ เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด

สัตว์เลี้ยงของมนุษย์ปล่อยรอย(อุ้ง)เท้าคาร์บอนเท่าใดกันแน่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ประเด็นที่ชัดเจนมากขึ้นทุกทีคือเจ้าสุนัขและแมวที่เรารักอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก

หนังสือเรื่อง“ถึงเวลากินสุนัขหรือยัง” ของเบรนดา และโรเบิร์ต เวล เผยแพร่เมื่อปี 2552

สร้างความแค้นเคืองให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างมากที่บอกว่า อาหารที่สุนัขและแมวกินโดยเฉลี่่ย ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์มากกว่าการขับรถเอสยูวี 10,000 กิโลเมตรถึงสองเท่า

10 ปีผ่านไปคำพิพากษาว่าอาหารสุนัขและแมวส่งผลกระทบต่อโลกยังมีให้เห็นเสมอมา

“ผมไม่ได้ต่อต้านสัตว์เลี้ยงเลย ผมรู้ว่าพวกมันนำสิ่งดีๆ มาให้มนุษย์ เป็นทั้งสัตว์ช่วยงานและเพื่อนคลายเหงา แต่ผมเชื่อว่าสำหรับคนที่ต้องการตัวเลือกที่ดี พวกเขาก็ควรได้ข้อมูลพร้อมสมบูรณ์ด้วย” เกร็กกอรี โอคิน อาจารย์สถาบันสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว

การศึกษาเมื่อปี 2560 โอคินประเมินว่า การกินเนื้อของสุนัขและแมวเลี้ยง 160 ล้านตัวในสหรัฐส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมราว 25-30% ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 64 ล้านตันที่ปล่อยออกมา เทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษของรถยนต์เบนซินและดีเซล 13 ล้านคัน

เคลลี สเวนสัน อาจารย์ด้านโภชนาการสัตว์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์โต้แย้งผลการศึกษาดังกล่าวว่า การคำนวณอาศัยข้อสมมติฐานที่ไม่แม่นยำมากมาย

“เพราะอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ใช้สินค้าทุติยภูมิจากอุตสาหกรรมอาหารมนุษย์ โดยเฉพาะส่วนผสมที่ทำมาจากสัตว์ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของส่วนผสมเหล่านั้นจึงไม่เท่ากับต้นทุนที่มนุษย์บริโภค”  นักวิชาการรายนี้อธิบาย

สำหรับเซบาสเตียน ลีแฟร์วจากโรงเรียนสัตวแพทย์เวตาโกรซู (VetAgro-Sup) แห่งลียง มองว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตอาหารสัตว์ระดับใหญ่แบบเดิมๆ นั้น “เล็กน้อยมาก” จะน่ากังวลก็ต่อเมื่อ “มนุษย์หยุดกินทิ้งกินขว้างแล้วหันไปกินมังสวิรัติอย่างสมบูรณ์”ลีแฟร์วกล่าวและว่า เศษเนื้อรวมถึงเครื่องในที่มนุษย์หลายคนเมินเหมาะนำไปทำอาหารสัตว์ที่สุดเพื่อไม่ต้องทิ้งไปเสียเปล่า

กระนั้น ในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ

ประเด็นภูมิศาสตร์ชวนคิด

พิม มาร์เทนส์ อาจารย์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแมสทริชต์ กล่าวว่า เมื่ออยู่กับมนุษย์ รอยเท้าคาร์บอนของสัตว์ “ขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน”

ผลการศึกษาในปี 2562 มาร์เทนส์พบว่า ตลอดชีวิตของสุนัขน้ำหนักระหว่าง 10-20 กิโลกรัม

ในเนเธอร์แลนด์ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 4.2 - 17 ตัน

สุนัขแบบเดียวกันถ้าอาศัยอยู่ในจีน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่าง 3.7-19.1 ตัน แต่ถ้าอยู่ในญี่ปุ่นตลอดชีวิตสุนัขตัวนี้จะผลิตก๊าซคาร์บอน 1.5-9.9 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ 10 ตัน พอๆ กับคาร์บอนที่รถสองคันผลิตออกมาทุกปี

แต่มาร์เทนส์ไม่ได้มองว่า การเปรียบเทียบแบบนี้มีประโยชน์

“นั่นหมายความว่า ถ้าคุณไม่ได้เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวแล้วจะขับรถเอสยูวี หรือขับรถเยอะกว่าอย่างงั้นเหรอ ไม่น่าจะใช่นะ”

อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิทยาศาสตร์ยอมรับได้อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง กล่าวคือ โดยตรรกะแล้วสุนัขตัวใหญ่กินอาหารมากกว่าแมวตัวเล็ก ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

เลี้ยงนกแทนดีมั้ย

ถ้าเช่นนั้นคนรักสัตว์ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อลดความเสียหายอันเกิดจากเพื่อนรักขนฟู

โอคินแนะนำว่า หาสัตว์ชนิดอื่นมาเลี้ยงแทนดีมั้ย อย่างแฮมส์เตอร์หรือนก

ส่วนมาร์เทนส์มองว่า ถ้าพิจารณาจากมุมมองนิเวศวิทยาเรื่องรอยอุ้งเท้าคาร์บอน พวกเราควรหาสัตว์เลื้อยคลานหรือแมงมุมยักษ์มาเลี้ยงแทนสุนัข

“แต่ถ้าคุณไม่อยากทิ้งรอยอุ้งเท้าคาร์บอนไว้ ก็ไม่ต้องเลี้ยงอะไรเลย” มาร์เทนส์ย้ำ 

โซลูชันหนึ่งสำหรับสัตว์และโลกคือ ลดหรือสร้างความหลากหลายของโปรตีนในอาหารสัตว์เลี้ยง ผู้ผลิตอาหารเม็ดหลายรายผสมแมลงในอาหารเม็ดของพวกเขาแล้ว กระนั้นก็ยังมีข้อโต้เถียงกันเรื่องจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมของอาหารสัตว์และกระบวนการผลิต

ลีแฟร์วเสนอว่า ในทางทฤษฎีแล้วการทำให้สุนัขเป็นมังสวิรัติไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องทำภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ กระนั้นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแมวนอกบ้านเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“การสังหารหมู่ยังมีอยู่รอบบ้านคุณ ทั้งนกตาย หนูผี กิ้งก่า...” เหล่านี้คือผลงานของแมวนอกบ้าน