เตือน! ปกปิด ‘ไทม์ไลน์’ โควิด มีโทษสูงสุด ทั้งจำทั้งปรับ รับมือระบาดรอบใหม่

เตือน! ปกปิด ‘ไทม์ไลน์’ โควิด มีโทษสูงสุด ทั้งจำทั้งปรับ รับมือระบาดรอบใหม่

ขณะที่การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่คนบางกลุ่มกลับเลือกที่จะปกปิด “ไทม์ไลน์” ของตนเอง แต่รู้หรือไม่ว่า การปกปิดเสี่ยงจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท!

ใกล้จะเข้าเทศกาลสงกรานต์ 2564 ขณะที่หลายๆ คนวางแผนเดินทาง ทั้งกลับบ้าน หรือท่องเที่ยว แต่เมื่อมาเจอกับสถานการณ์ระบาดของ “โควิด-19” ระลอกใหม่ที่กระจายไปหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง ความกังวลก็เกิดขึ้นในใจของหลายๆ คน 

ขณะที่จำนวนมาก ไล่เรียงอ่านไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ เพื่อดูว่า เดินทางไปในสถานที่เดียวกับตนเองหรือไม่ แต่พร้อมๆ กันก็กลับมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะในฐานะ “ผู้มีความเสี่ยง” หรือจะถึงขั้น “ติดเชื้อโควิด-19” แล้วก็ตาม ที่พยายามปกปิดไทม์ไลน์ของตัวเอง 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจำเป็นใดๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการปกปิด “ไทม์ไลน์” นั้นผิดกฎหมาย เสี่ยงทั้งจำและปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  •  โทษของการปกปิดไทม์ไลน์

“พฤติกรรมการปกปิดไทม์ไลน์” เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษดังต่อไปนี้

ผู้ที่ให้ข้อมูลไทม์ไลน์เท็จ บิดเบือด ไม่สอดคล้อง ปกปิด หรือมีการปฏิเสธ มีความผิดตามมาตรา 9 ตามพรก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 และ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ต้องโทษตามกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กรณีจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกับการแพร่โรค รวมทั้งไม่ทำตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดในมาตรา 9 ของพรบ.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

  • เหตุผลสำคัญที่ต้องเปิดเผยไทม์ไลน์

การบอกไทม์ไลน์ รายละเอียดของช่วงเวลาที่ไปยังสถานที่ต่างๆ ย้อนหลังไป 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ ว่าทำกิจกรรมอะไร ไปสถานที่ไหนมาบ้าง เป็นสิ่งสำคัญเพราะไทม์ไลน์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยชี้ให้เห็นความชัดเจนกับคนหมู่มากว่าพวกเขามีความเสี่ยงในการสัมผัสหรือได้รับเชื้อโควิด-19 หรือไม่

ดังนั้นหากเป็นผู้มีความเสี่ยง มีโอกาสสัมผัสเชื้อ หรือมีอาการป่วยแล้วต้องเปิดไทม์ไลน์เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง คนอื่นๆ และทีมแพทย์ พยาบาล เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักรู้และดูแลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

หากบิดเบือนหรือไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลจะส่งผลให้การควบคุมโรคล่าช้าและลำบากขึ้นกว่าเดิม

อ้างอิง: ราชกิจจานุเบกษา