กรมการข้าวเตรียมแจก 5 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ในวันพืชมงคล

กรมการข้าวเตรียมแจก 5 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ในวันพืชมงคล

กรมการข้าว เตรียม 5 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน กว่า 1.3 ตัน แจกเนื่องใน พระราชพิธีพืชมงคล ปี 64

นายเสกสรร รื่นภาคเพ็ชร ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานทั้งหมด 5 พันธุ์ จำนวน 1,396 กิโลกรัม  นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2564 ประกอบด้วย

  1. 1. ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม
  2. 2. ปทุมธานี 1 เป็นข้าวเจ้าผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง
  3. 3. กข43 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่ม
    มีกลิ่นหอมอ่อน ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  4. 4. กข6 เป็นข้าวเหนียวให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม คุณภาพการสีดี ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล

5. กข79 เป็นข้าวที่มีอมิโลสต่ำ ข้าวสุกนุ่ม ให้ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้

อย่างไรก็ตามพันธุ์ข้าวพระราชทานทั้ง 5 พันธุ์จะนำไปบรรจุซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายให้พสกนิกรผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

            ทั้งนี้ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น

โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

            นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้จัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019  (Covid-19) ซึ่งมีมาตรการและข้อปฏิบัติทางสาธารณสุขหลายประการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

สำหรับในปี 64 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากไทยยังมีปัญหาการแพระระบาดของโรคโควิด 19 แต่ทั้งนี้ การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะตรงกับวันพืชมงคล วันที่ 10 พ.ค. นี้