สหรัฐ-ญี่ปุ่นถกร่วมมือ'5จี-สร้างเมืองอัจฉริยะ'

สหรัฐ-ญี่ปุ่นถกร่วมมือ'5จี-สร้างเมืองอัจฉริยะ'

สหรัฐ-ญี่ปุ่นถกร่วมมือทำโครงการพัฒนา'5จี-สร้างเมืองอัจฉริยะ'ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หวังถ่วงดุลย์โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

สหรัฐและญี่ปุ่น เตรียมทำโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง ครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบไร้สาย5จี พัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในอินโด-แปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆหวังถ่วงดุลกับโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง(บีแอนด์อาร์)ของจีน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐและนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะของญี่ปุ่น เตรียมกำหนดกรอบงานเพื่อความร่วมมือด้าน5จีและสมาร์ทซิตี้ในโอกาสที่ผู้นำญี่ปุ่นเดินทางเยือนสหรัฐ 16 เม.ย.นี้

แนวทางการดำเนินงานของทั้งสองประเทศจะครอบคลุม เงื่อนไขเบื้องต้นด้านการลงทุน ระบบต่างๆที่จะทำให้โครงการดำเนินไปจนจบ และข้อเสนอแนะต่างๆที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความสามารถแก่บุคคลากรในท้องถิ่น ทั้งยังกำหนดมาตรฐานสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและกฏระเบียบต่างๆด้านการซ่อมบำรุงเพื่อลดความเสี่ยงด้านการรั่วไหลของเทคโนโลยีให้เหลือน้อยที่สุด

ช่วงที่ไบเดนชนะเลือกตั้งใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้โพสต์แสดงความยินดีกับผู้นำสหรัฐและนางกมลา แฮร์ริส ที่ชนะเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐบนทวิตเตอร์ว่า “ผมตั้งตารอที่จะได้ทำงานกับพวกคุณเพื่อกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นขึ้น รวมทั้งรับประกันสันติภาพ เสรีภาพ และความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและกว้างขวางขึ้น”

ถ้อยคำดังกล่าว บ่งชี้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีซูกะต้องการให้นโยบายอินโดแปซิฟิก เป็นหลักสำคัญในพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ นโยบายนี้ริเริ่มในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มีเป้าหมายเพื่อคานอำนาจจีนจาก 2 ฟากฝั่งมหาสมุทร

ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ประเมิณว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียจำเป็นต้องลงทุนเพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 26 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2559-2573 พร้อมยกตัวอย่างว่า ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก จำเป็นต้องวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ค่อนข้างเปราะบาง ขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐกำลังร่วมมือกับออสเตรเลียเพื่อตั้งกองทุนติดตั้งเคเบิ้ลไฟเบอร์-ออปติกใต้ทะเลให้สาธารณรัฐปาเลา

ที่ผ่านมา จีนใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้นทุนต่ำเพื่อขยายโครงการริเริ่มบีแอนด์อาร์ในกลุ่มชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่แห่งเอเชีย ซึ่งสหรัฐและจีนมองว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อแนวคิดเปิดกว้างและเสรีแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวกำลังบอบช้ำอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีบางประเทศหันไปพึ่งพาเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย(เอไอไอบี)ของจีนเพื่อพยุงฐานะทางการเงินของประเทศ

แต่รัฐบาลจีนก็ถูกกล่าวหาว่าใช้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสถาบันการเงินชั้นนำแห่งนี้สร้างแรงกดดันทางการทูตแก่ประเทศที่กู้ยืมเงินจนเป็นที่มาของ“การทูตกับดักหนี้”ที่สร้างความวิตกกังวลมากขึ้นแก่ประเทศต่างๆว่าจะนำไปสู่ประเด็นด้านความมั่นคงและเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพอากาศจากเทคโนโลยีของจีน

ด้านประธานาธิบดีสหรัฐ เผยแผนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสหรัฐ มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อปรับโฉมเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อรับมือความท้าทายจากจีน โดยคาดว่าจะช่วยสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง ซึ่งผู้นำสหรัฐบอกว่า การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนของสหรัฐ ซึ่งจะมีครั้งเดียวในหนึ่งชั่วอายุคน ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเห็นหรือเคยทำมาก่อน หลังจากที่สหรัฐสร้างระบบทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างรัฐต่างๆ และแข่งขันด้านอวกาศเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว

แผนการใช้จ่ายมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐประกาศว่าจะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและต่อสู้กับผลกระทบอันเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งแผนการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อสู้กับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและภาคสาธารณะอย่างมหาศาลของจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกที่กำลังไล่จี้สหรัฐเพื่อชิงตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกให้ได้