เรื่องต้องรู้ เจาะ ‘บ่อบาดาล’ ขุดลึกแค่ไหน แล้วต้องทำเรื่องขออนุญาตอย่างไร

เรื่องต้องรู้ เจาะ ‘บ่อบาดาล’ ขุดลึกแค่ไหน แล้วต้องทำเรื่องขออนุญาตอย่างไร

รู้จักขั้นตอนขออนุญาตเจาะ-ใช้ "น้ำบาดาล" ที่ผู้ใช้ต้องรู้ แม้จะขุดเจาะหรือใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ของตัวเองที่มีความลึกเกิน 15 เมตร ยังไงก็ต้องยื่นขออนุญาตกับทางราชการ หากฝ่าฝืนมีโทษสูงสุด ทั้งจำทั้งปรับ

หากติดตามกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในกรณีที่มีการพูดถึง คือกรณีเกี่ยวกับน้ำบาดาล” ที่ “พิมรี่พายแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ได้เคยเดินทางไปขุดบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ความดราม่าที่เกิดขึ้น มาจากมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดบ่อบาดาลที่พิมรี่พายไปขุดเจาะนั้น ถึงมีราคาถูกกว่าการที่ภาครัฐดำเนินการ ขณะที่เสียงอีกข้างจาก พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงประเด็นนี้ว่า ราคาการเจาะบ่อบาดาลจะแพงหรือไม่แพงขึ้นอยู่กับความลึกของบ่อ บางทีบ่อลึก 300-400 เมตร จะให้ราคาขุดเท่ากับบ่อที่มีความลึก 30 เมตรได้อย่างไร รวมถึงท่อที่ใส่ไปก็ไม่เหมือนกัน 

ขณะเดียวกันหลายคนก็อาจจะยังมีคำถามว่า หากต้องการขุดเจาะหรือใช้น้ำบาดาล ซึ่งทำให้พื้นที่ของตัวเอง จำเป็นจะต้องขออนุญาตหรือไม่ อย่างไร

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุปเรื่องควรรู้ สำหรับใครที่กำลังคิดจะขุด "บ่อบาดาล" เพื่อนำ "น้ำบาดาล" ขึ้นมาใช้ ว่า ต้องทำตามเงื่อนไข หรือขั้นตอนอย่างไร 

  • ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเป็นเขตน้ำบาดาลต้องขออนุญาต

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า แม้ว่าจะเจาะบ่อบาดาลสักบ่อในที่ดินของตัวเอง จ่ายเงินค่าใช้จ่ายเอง จ่ายเอกชนมาขุดเจาะเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อใช้ในการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องยื่นขออนุญาตการเจาะและใช้น้ำบาดาลกับทางราชการ 

น้ำบาดาล เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมีสิทธิใช้ แต่การเจาะบ่อน้ำบาดาลไม่ได้มาตรฐาน และการใช้น้ำบาดาลมากเกินความสมดุล จะทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล

เนื่องจากว่า น้ำบาดาล เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมีสิทธิใช้ แต่การเจาะบ่อน้ำบาดาลไม่ได้มาตรฐาน และการใช้น้ำบาดาลมากเกินความสมดุล จะทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล ขณะเดียวกันหากมีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย อาจส่งผลให้คุณภาพน้ำใต้ดินเปลี่ยนไป คุณภาพต่ำลง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำหรือปนเปื้อนสารพิษได้เช่นกัน แน่นอนว่าอาจอันตรายต่อสุขภาพหากนำไปกินหรือใช้ 

ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล โดยตามตัวบทกฎหมายกำหนดไว้ว่า ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นเขตน้ำบาดาล และกำหนดว่า น้ำใต้ดินที่อยู่ลึกจากผิวดินลงไปเกินกว่า 15 เมตร ถือเป็นน้ำบาดาล

ดังนั้นผู้ใช้น้ำดังกล่าวจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง และหากไม่ดำเนินการ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  

  • ขั้นตอนการขออนุญาตขุดเจาะ "บ่อบาดาล" และใช้ "น้ำบาดาล"

สำหรับผู้ที่ต้องการเจาะและใช้น้ำบาดาลต้องไปติดต่อขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลให้เรียบร้อย โดยมีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มพื้นที่หลักๆ ดังนี้

1. พื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องติดต่อที่สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

2. พื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ติดต่อได้ที่สำนักงานเทศบาลหรือองค์การบริการส่วนตำบลในพื้นที่นั้นๆ

3. พื้นที่จังหวัดอื่นๆ 73 จังหวัด ติดต่อได้ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด

เอกสารที่ต้องใช้  ในการดำเนินการนั้น ประกอบด้วย 6 สิ่งหลักๆ ได้แก่

- บัตรประชาชน
- คำขอรับใบอนุญาต แบบ นบ.1 (ในส่วนนี้มีค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท)
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล สำหรับผู้รับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล
- หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดิน
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 30 บาท ในกรณีที่ให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
- ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กรณีที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม 

สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาใบอนุญาต อยู่ระหว่าง 2-17 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดบ่อน้ำบาดาล นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้นำ้บาดาลด้วย เริ่มต้นตั้งแต่บ่อขนาด 2-3 นิ้ว มีค่าใช้จ่าย 100 บาท บ่อขนาด 4-6 นิ้ว มีค่าใช้จ่าย 500 บาท และบ่อขนาด 8 นิ้วขึ้นไป 1,000 บาท 

   

ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ได้แปลว่า ใช้ได้ตลอดไป

นอกจากนี้ มีเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ ก็คือ การขออนุญาตนี้จ่ายครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดไป อันนี้ไม่เป็นความจริง 

  • ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล มีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 1 ปี 
  • ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล หากอยู่ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร มีการกำหนดไว้ว่าใบอนุญาตมีอายุไม่เกิน 3 ปี หากอยู่ในพื้นที่นอกเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ใบอนุญาตมีอายุไม่เกิน 5 ปี
  • ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล ใบอนุญาตมีอายุไม่เกิน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม อัตราการเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล มีการกำหนดช่วงเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมแบ่งเป็นปีละ 4 งวด ดังนี้

- งวดที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม
- งวดที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน
- งวดที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน
- งวดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม

    

ที่มา : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล