พัฒนาเด็กอย่างไรให้ 'อ่านออกเขียนได้' และ 'วิเคราะห์เป็น'

พัฒนาเด็กอย่างไรให้ 'อ่านออกเขียนได้' และ 'วิเคราะห์เป็น'

จากคะแนน PISA และ O-Net ที่ผ่านมา พบว่า เด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในประเทศสมาชิก OECD สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเด็กจึงไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องเข้าใจ วิเคราะห์เป็น โดยสร้างฐานตั้งแต่ชั้นประถมโดยเฉพาะคณิตศาสตร์

ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาสูงกว่าหลายประเทศในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เฉพาะในปี พ.ศ. 2561 ทุ่มงบประมาณไปมากกว่า 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เมื่อเทียบกับงบประมาณโดยเฉลี่ย ร้อยละ 4.9 ของ 17 ประเทศในกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development-องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) จากสมาชิกทั้งหมด 34 ประเทศ

ขณะเดียวกัน ผลการเรียนของเด็กไทย เมื่อวัดจากการทดสอบโอ-เน็ต (Ordinary National Education Test : O-Net) และ PISA (Programme for International Student Assessment) พบว่า ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในประเทศสมาชิก OECD และต่ำกว่าคาดหมายของหน่วยงานรัฐที่กำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศ

  • “ทักษะการอ่าน” วิกฤตการศึกษาไทย

“ดร.เกศรา อมรวุฒิวร” ผู้จัดการโครงการ SEAMEO STEM-ED และ โธมัส คอร์โคแรน (Thomas Corcoran) ที่ปรึกษาอาวุโส SEAMEO STEM-ED ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เป็นวิกฤตการศึกษาไทย คือ ทักษะการอ่าน รายงานจากธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า จำนวน 1 ใน 3 ของเด็กไทยที่อายุ 15 ปี  “ไม่รู้หนังสือในระดับพื้นฐาน” หมายความว่า เยาวชนของเราขาดทักษะด้านการอ่านที่เพียงพอในการดำรงชีวิตหรือทำงาน

ข้อมูลจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษาในภูมิภาค หรือ SEA-PLM (Southeast Asia Primary Learning Metrics) ระบุว่า เด็กในเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กันเรื่องการอ่าน และคณิตศาสตร์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผลสะท้อน 'PISA' 20 ปี ย่ำอยู่กับที่

  • ปูพื้น "คณิตศาสตร์" ตั้งแต่ชั้นประถมฯ

ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED อธิบายว่า ในหลายประเทศที่จะรีฟอร์มการศึกษา บอกว่าต้องทำคณิตศาสตร์ชั้นประถมฯ ให้ดี หลายประเทศทำแล้วพบว่าเด็กมีมาตรฐานสูงขึ้น ดังนั้น ฐานมาจากประถมฯ และระหว่างทางที่จะขึ้น ม.ต้น หากเขาอ่อนแอทั้งตัวผู้เรียน ผู้ปกครองที่ต้องทำมาหากิน ครูที่สอน หน่วยผลิตครูก็วิ่งตามไม่ทันตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะเป็นทฤษฎีแบบเดิมๆ

“หลักคิดการรับรู้ในช่วงประถมศึกษา เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเป็นเครื่องมือ สร้างฐานให้เขาได้เรียนรู้ในโอกาสต่อไป การคิดวิเคราะห์สำคัญมาก เพราะหากเด็กแค่อ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ PISA วัดแล้วว่าเด็กไทยอ่านไม่ดี เพราะเก็บความคิดรวบยอดไม่ได้ ข้อความที่อ่านผู้เขียนเขียนเป็นจินตนาการ ข้อเสนอ หรือข้อเท็จจริง เด็กยังแยกแยะไม่ได้ เพราะฉะนั้น บ้านเราเด็กจะมีปัญหา "อ่านออกเขียนได้" แต่ไม่เข้าใจ”

สิ่งสำคัญ คือ เด็กตั้งแต่เล็ก ต้องอ่านแตกฉาน และฝึกคิดวิเคราะห์ สิ่งที่เด็กสนใจ คือ สมุดภาพ สร้างจิตนาการ เช่น ฟินแลนด์ ไม่ว่าจะ "คณิตศาสตร์" วิทยาศาสตร์ เด็กจะเริ่มรู้ และคิดตาม เรามีวิธีการที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้นหลายวิธี แต่การอ่านเป็นเรื่องสำคัญ

“การอ่าน ไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่อ่านทุกอย่างให้เข้าใจว่าอ่านเพื่ออะไร และคิดอะไรได้ต่อ “คณิตศาสตร์” จะช่วยส่งเสริมความคิดที่เป็นตรรกะ หากเด็กมีพื้นฐาน เด็กจะเข้าใจความหมาย เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ดังนั้น ฐานของคณิศาสตร์ และ การอ่าน ชั้นประถมฯ ต้องเอาให้อยู่ และเขาจะเข้าใจวิชาอื่นๆ ที่สูงขึ้นไปได้เอง”

ทั้งนี้ “สิงคโปร์” ที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ป.3 เขาถึงจะให้เริ่มเรียน และในช่วงอนุบาล ป. 2 ยังไม่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ แต่มีกิจกรรมที่อิงวิทยาศาสตร์ ขณะที่ “ประเทศไทย” มีโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี ในการให้เด็กเล็กทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม

161734278544

ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร

  • ส่องประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ดร. พรพรรณ กล่าวต่อไปว่า บางประเทศหนักกว่า แต่บางประเทศก็ไม่เจอปัญหา เช่น สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศแนวหน้า เพราะมีการพัฒนาครู หลังจากฝึกอบรมครูแล้ว ครูเหล่านั้นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เพราะฉะนั้น การพัฒนาครู ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กดี และเนื่องจากเป็นประเทศเล็ก มีหน่วยผลิตครูแห่งเดียว คือ สถาบันการศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Education : NIE) มีการปรับหลักสูตรที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป

“ขณะที่ เวียดนาม ตอนนี้มีการลงทุนในประเทศ พยายามผลักดันนักเรียนให้อยู่ในระดับท็อปๆ ของ PISA เพราะในระดับโลกเทียบเคียงศักยภาพของเด็กแต่ละประเทศผ่านมาตรฐาน PISA สำหรับประเทศไทย มีสิ่งดีๆ หลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญ คือ ความไม่ต่อเนื่อง และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เมื่อไม่ได้ใช้ การลิงค์กับการให้งบประมาณจึงไม่เป็นไปในทางเดียวกัน หากเป็นไปในทางเดียวกันแล้ว สิ่งที่วิจัยมาคาดว่าจะได้ผล”

  • เทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เทรนด์ในปัจจุบันไม่ใช่การมุ่งไปสู่ปริญญาเอก แต่เทรนด์ใหม่คือการเลือกในสิ่งที่เป็นความถนัด และหากสนใจจึงมุ่งไปที่สู่การศึกษาที่สูงขึ้น การเรียนในออนไลน์มีจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

ดร. พรพรรณ กล่าวต่อไปว่า ความคิดในเด็กรุ่นใหม่จะเริ่มแตกต่าง แต่เดิมมองว่าเด็กต้องเรียนให้สูง และให้คุณค่ากับปริญญา แต่คุณค่าที่แท้จริงแล้ว คือ การคิดได้ ตัดสินใจได้ ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นเครื่องมือร่วมสมัยให้เป็นประโยชน์ และครูสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอน และผลิตสื่อ ความรู้เข้ามาเยอะ ไม่ควรจำ แต่ต้องคิดให้ได้จากสิ่งที่มีอยู่ แก้ปัญหา ตัดสินใจได้ เราต้องการเด็กแบบนี้

 

การเข้าไปทำงานในที่ต่างๆ หากไม่มีเรื่องคิดวิเคราะห์ ก็อาจจะทำงานไปเรื่อยๆ แต่คนที่คิดได้ นำเสนอได้ ช่วยตัดสินปัญหาได้ จะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ไม่สำคัญ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ตอนนี้อาชีพต่างๆ ทั่วโลก มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะที่เกี่ยวกับไอที อาชีพเก่าๆ จะเริ่มหายไป

“หากการเรียนรู้ในโรงเรียนไม่เชื่อมโยงกับอาชีพที่กำลังจะเป็นไปเด็กจะลำบาก เพราะฉะนั้น ต้องไม่เสียเวลาที่จะให้เด็กเรียนไปแล้วจะไปทิศไหน แต่วิธีการที่จะให้เด็กรับรู้ว่าสิ่งที่เรียนรู้ว่าที่เรียนไปจะใช้ประโยชน์อย่างไร คือ การฝึกงาน และเขาจะรู้ว่าเขาดีตรงไหน” ดร. พรพรรณ กล่าว

  • พัฒนาคนต้องเริ่มจากฐานราก

ดร. พรพรรณ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคนต้องเริ่มจากฐานราก สมัยก่อนคือพ่อแม่ แต่ตอนนี้ครูที่ดูแลเด็กเล็กก็เป็นสิ่งสำคัญ จากข่าวที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เห็นแล้วว่าครูเด็กเล็กต้องมีความอดทน หากไม่มีความอดทน ไม่มีเมตตา ก็ไม่ควรเป็นครูเด็ก  ใน “ฟินแลนด์” ให้ความสำคัญกับประถมศึกษามาก และคุณภาพของครู คนที่เป็นครู จะมีเงินเดือนสูงกว่าอาชีพอื่นมาก หากสอนมัธยมศึกษา ต้องจบปริญญาโท เด็กเล็กก็ต้องได้รับการพิจารณและคัดเลือกเป็นพิเศษ แต่ประเทศเหล่านี้ทำได้ไม่ยากเพราะเป็นประเทศเล็ก

  • ทางออกของปัญหาคือการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2508 ภายใต้การตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลของกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน มีภารกิจหลักเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภูมิภาค “ด้านการศึกษา-วิทยาศาสตร์-วัฒนธรรม” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษาสอดคล้องตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก

ขับเคลื่อนภายใต้ขอบข่ายความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ด้านการพัฒนาการศึกษาทุกระดับ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ด้านสุขอนามัยและสาธารณสุข ด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านวัฒนธรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้จะมีศูนย์ระดับภูมิภาค 26 แห่งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้านกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียน รับผิดชอบบริหารจัดการ

  • SEAMEO มีบทบาทหน้าที่อย่างไร

ปัจจุบัน SEAMEO มีสมาชิกทั้งหมด 26 ศูนย์ จาก 11 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และติมอร์เลสเต

สมาชิกสมทบ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน และสหราชอาณาจักร

หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ 4 แห่ง ได้แก่ สภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัย Tsukuba บริติช เคาน์ซิล และสมาคมเพื่อการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education / ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นภายใต้มติ ครม. และความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการไทย เมื่อ พ.ศ.2562 มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียนร่วมเป็นสมาชิก

ภารกิจหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้นวัตกรรมด้านสะเต็มศึกษา พร้อมให้คำเสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบายแต่ละชาติสมาชิก โดยประเทศไทยรับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 26 ศูนย์ระดับภูมิภาคของ SEAMEO

  • ภารกิจหลัก SEAMEO STEM-ED

หนึ่งในภารกิจ SEAMEO STEM-ED คือการนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา (Policy Advocacy) ซึ่งในงานประชุม Chevron – SEAMEO Research Workshop for Strengthening Regional STEM Education in Southeast Asia ครั้งนี้ SEAMEO STEM-ED จะมีการนำเสนองานวิจัยที่ถอดบทเรียนจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ระยะที่ 1 (ปี 2558 - 2563) ให้กับนักวิจัยทั้งของไทยและประเทศสมาชิกได้รับทราบ โดยเฉพาะในด้านแนวทางพัฒนาและประเมินครูผู้สอนอันมีส่วนสำคัญต่อนักเรียนและการยกคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศในอาเซียนประสบอยู่

เพื่อนำผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของภูมิภาคทั้งนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยทุนทำวิจัยของโครงการและพัฒนางานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่กระบวนการนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนเพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และสนับสนุนให้เกิดแนวนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาของแต่ละประเทศในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • SEAMEO STEM-ED + Chevron Enjoy science

ศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นผู้รับผิดชอบบริหาร “โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะที่ 2” ด้วยการส่งเสริมและให้ข้อแนะนำถึงการเรียนรู้สะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน รวมถึงจัดทำวิจัยเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายทางการศึกษาและแนวปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับ ภายใต้กรอบทำงาน 3 ด้าน 1. ด้านนโยบายสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือ เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

2. พัฒนาจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่าน 3 กิจกรรม STEM Professional Academy เพิ่มศักยภาพครูและ บุคลากรทางการศึกษา STEM Learning Modules พัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้และจัดเวทีวิชาการ และ STEM Career Academies แนะแนวทางศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพิ่มทักษะจำเป็น และสร้างแรงบันดาล ใจในอาชีพด้านสะเต็ม

3. ส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มที่เหมาะกับบริบทของประเทศ โดยผลการดำเนินงานและข้อค้นพบที่ได้จากโครงการฯ จะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำเสนอเป็นโมเดลการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียน หรือ SEAMEO Congress ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

  • การร่วมมือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ดร. พรพรรณ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 10-12 มีนาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดความร่วมมือกันระหว่าง เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น และ SEAMEO STEM-ED ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนักวิจัยระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษา โดยมีเครือข่าย 11 ประเทศเข้าร่วม

การประชุมดังกล่าว เป็นเวทีระดมสมองของผู้กำหนดนโยบายและนักวิจัย เพื่อร่วมกันกู้วิกฤตด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยการกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยบน “หลักฐาน” เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน และในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 300 คน

SEAMEO STEM-ED จะเริ่มโครงการในรูปของเวิร์คช็อปที่สนับสนุนนักวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในภูมิภาคนี้ ตลอดจนเพิ่มแนวทางการศึกษาในประเด็นวิกฤติ อาทิ คณิตศาสตร์ และการรู้หนังสือในระดับประถมศึกษา รวมถึงให้ทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาในประเด็นที่เป็นที่สนใจของผู้กำหนดนโยบาย ตั้งเป้าให้ผู้บริหารแต่ละประเทศเข้าถึงงานวิจัยและนำไปไปใช้ประโยชน์ ไปจนถึงองค์ประกอบของการกำหนดนโยบายต่อไป”

“อีกสเต็ปหนึ่ง คือ การพัฒนาดาต้างานวิจัยในด้านสเต็มศึกษา เพื่อให้สามารถค้นหางานวิจัยที่ได้ผล ลดการทับซ้อนในการวิจัย และให้ทุนกับนักวิจัยในเรื่องที่จะศึกษาสนับสนุนโดยเชฟรอน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ” ดร. พรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตั้งเป้าปี 2024 PISA เพิ่มขึ้นให้ได้ 470 คะแนน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ในวันที่เด็กไทยขาด Critical Thinking