จองคิวฉีดวัคซีน ไทยถึงเป้าหมายเร็วขึ้น

จองคิวฉีดวัคซีน ไทยถึงเป้าหมายเร็วขึ้น

ปัจจุบันการกระจายวัคซีนโควิดในไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กลางเดือน เม.ย.จะมีจัดสรรวัคซีนซิโนแวคที่เหลือ ขณะที่ พ.ค.วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 5 ล้านโดส จะถูกส่งมาถึงไทยและ สธ.จะเปิดให้ประชาชนได้จองคิวเพื่อฉีดวัคซีน นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยถึงเป้าหมายเร็วขึ้น

สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 1 เม.ย.2564 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 26 ราย เป็นยอดที่ค่อนข้างต่ำภายหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ โดยใน 26 รายนี้ แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 21 ราย ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 8 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 ราย วันนี้ ยอดผู้ป่วยสะสม 24,652 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 7,254 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 16,070 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,328 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดสะสม 34 ราย

ขณะข้อมูลวัคซีโควิด-19 ปัจจัยที่จะช่วยให้โควิดลดลง ปัจจุบันประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก 2 บริษัท คือ ซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซเนก้า อีกจำนวน 61 ล้านโดส ตามแผน ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อดังกล่าวครบทั้งจำนวนภายในเดือนมิ.ย.2564 โดยที่ผ่านมา วัคซีนซิโนแวค 2 แสนโดสแรก ฉีดเข็มที่ 1 ในเดือน มี.ค.ครบตามเป้าหมายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระจายวัคซีนอีก 8 แสนโดส ไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จัดสรรให้วัคซีนซิโนแวคที่เหลืออีก 1 ล้านโดส ในกลางเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นเดือน พ.ค.2564 วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ล็อตใหญ่จำนวน 5 ล้านโดส ถูกส่งมาถึงประเทศไทย ล็อตดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านระบบไลน์และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม ก่อนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของไทยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวดังกล่าว นับเป็นการยกระดับการกระจายวัคซีนของประเทศ เราเห็นว่าถึงขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุน

การทำงานที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายปรับแผนวัคซีนเป็นระยะๆ ให้เหมาะสมสอดคล้อง โดยเฉพาะแผนการเปิดประเทศ การใช้เครื่องมือดิจิทัลและระบบออนไลน์จะช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องมือปกติหรือการอาศัยเครือข่ายจากภาคเอกชนยังต้องเดินหน้า ต้องชื่นชมการกระชับแผนวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายบุคคล มีการปรับเป้าเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อดึงรายได้ต่างประเทศเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ส่วนอัตราเร่งได้เพิ่มการฉีดที่โรงพยาบาลสนามนอกเหนือโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 

เราเห็นว่าการให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ช่วยรัฐบาลหรือช่วยกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นการช่วยตัวเราเอง นับตั้งแต่ประเทศเจอภัยโควิด ความสามัคคีคือหัวใจสำคัญ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติมากขึ้น เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวในที่สุด เราเชื่อว่าแผนการกระจายการฉีดวัคซีนจะได้สัดส่วน 50-60% ของประชากรในพื้นที่ จะสำเร็จไม่เกินปลายปีนี้ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น