'ดัชนีหุ้นไทย' ที่ต้องรู้ไว้ก่อนลงทุน

'ดัชนีหุ้นไทย' ที่ต้องรู้ไว้ก่อนลงทุน

ทำความรู้จัก "ดัชนีหุ้นไทย" ที่ต้องรู้ไว้ก่อนลงทุน หลักๆ ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนภาพรวมของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น

ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์คงต้องเคยได้รับฟังการรายงานภาวะตลาดหุ้นประจำวัน ซึ่งในการรายงานภาพรวมของตลาดนั้น ตัวเลขหลักๆ คือค่าดัชนี และปริมาณการซื้อขายในตลาด เพื่อบอกว่าภาวการซื้อขายในวันนั้นๆ เป็นอย่างไร โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่นั้นมักให้ความสนใจกับการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในภาพรวม ดังนั้น ค่าดัชนีหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จึงเป็นตัวสะท้อนภาพรวมของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีนั้นๆ ว่ามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด

สำหรับตลาดหุ้นไทยดัชนีที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคยคงจะไม่พ้นดัชนี SET Index และ SET50 Index อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์มีการจัดทำดัชนีเป็น series หลายดัชนี ซึ่งมีความแตกต่างในการจัดทำ ซึ่งผู้ลงทุนอาจศึกษาและเลือกนำมาใช้ได้ตามวัตถุประสงค์

โดยคร่าวๆ อาจแบ่งกลุ่มดัชนีได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่คำนวณจากราคาหุ้นทุกตัวที่อยู่ใน Universe เช่น SET Index คำนวณจากหุ้นสามัญ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund & Real Estate Investment Trust) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลาดหลักทรัพย์ หรือ mai Index ก็มาจากหลักทรัพย์จดทะเบียนใน mai เป็นต้น ทั้งนี้ ในการคำนวณจะไม่ได้ตัดหลักทรัพย์ตัวใดออกยกเว้นหลักทรัพย์ที่ถูกพักการซื้อขายเป็นเวลานาน ส่งผลให้ดัชนีประเภทนี้สามารถสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม จึงมักถูกอ้างอิงเวลาพูดถึงสภาพการณ์ของตลาดหุ้น

ดัชนีหุ้นกลุ่มที่สอง เป็นดัชนีประเภทที่มีการคัดเลือกหุ้นเข้ามาเป็นองค์ประกอบตามที่กำหนด เช่น กลุ่มหุ้นบลูชิพหรือหุ้นขนาดใหญ่มีสภาพคล่องสูง ตัวอย่างเช่น ดัชนี SET50 ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาด สภาพคล่องสูง หรือหุ้น Blue chip 50 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทย ในทำนองเดียวกัน ดัชนี SET100 ก็จะคัดเอาหุ้น 100 อันดับแรกมาจัดทำเป็นดัชนี ในขณะที่ ดัชนี sSET ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่นอกเหนือดัชนี SET50 และ SET100 ซึ่งอาจเป็นกลุ่มบริษัทมีโอกาสการเติบโตสูง แต่ราคาก็อาจจะมีความผันผวนมากกว่าเช่นกัน

นอกจากการคัดเลือกหุ้นโดยดูขนาดแล้ว การทำดัชนีอาจกำหนดให้คัดเลือกหุ้นแบบ Thematic ได้ กล่าวคือเลือกหุ้นที่มีลักษณะสอดคล้องกับ Theme การลงทุนที่น่าสนใจให้แก่ผู้ลงทุน โดยในทางปฏิบัตินั้น การคัดเลือกอาจมีการกำหนดเรื่องของขนาดและสภาพคล่องขั้นต่ำ หรือกำหนดน้ำหนักสูงสุดของแต่ละหุ้น เพื่อให้ดัชนีมีความสมดุล ไม่ขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปเพิ่มเติมด้วย

ตัวอย่างเช่น SET High Dividend Index (SETHD) จะเลือกมาจากหุ้นใน SET100 ที่มีการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลของรอบบัญชี 3 ปีย้อนหลัง ดัชนี SET CLMV Exposure คัดเลือกหุ้นมาจากที่กลุ่มบริษัทที่มีรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อย่างน้อยร้อยละ 10 หรือไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ดังนั้น ผู้ลงทุนสามารถใช้ดัชนีนี้เป็นแนวทางในการลงทุนในหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ และดัชนี SET THSI ซึ่งประกอบด้วยหุ้นที่มีนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ของบริษัท

ดัชนีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นดัชนีสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาสำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่เลือกมาตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยการคำนวณจะเทียบเคียงมูลค่าในปัจจุบัน (ซึ่งเกิดจากราคาและจำนวนหุ้น) เทียบกับมูลค่า ณ วันฐาน (วันเริ่มคำนวณ) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของดัชนีจะสะท้อนเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของราคาซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงผลตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น เงินปันผล เป็นต้น

ดังนั้น ในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงอาจต้องพิจารณาเทียบกับดัชนีในกลุ่มที่ 3 คือ Total Return Index หมายถึง ดัชนีที่ใช้วัดผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ได้แก่ ผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ลงทุน (Capital Gain/Loss) และเงินปันผล (Dividend) โดยมีสมมติฐานว่า เงินปันผลที่ได้รับนี้จะถูกนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี (Reinvest) ด้วย

ดังนั้น ในการเทียบว่าในช่วงหนึ่งเราได้ผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนดีมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็อาจต้องพิจารณาเปรียบเทียบจาก Total Return Index ซึ่งใน SET Series ต่างๆ นั้นมีการจัดทำดัชนีประเภท Total return index ไว้เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เทียบผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย

จากข้างต้นจะเห็นว่าดัชนีหุ้นมีหลากหลายให้ผู้ลงทุนเลือกใช้ได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ เช่น การใช้ SET Index เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวม หรือใช้รายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SETHD Index เพื่อเป็นตัวช่วยขั้นต้นในการคัดกรองรายชื่อหุ้นที่ให้เงินปันผลสูงและสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในด้านผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ก็มีการใช้ดัชนีเป็น Benchmark หรือตัวเทียบวัดเพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุน รวมถึงยังใช้อ้างอิงในการออกแบบเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ให้กับผู้ลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม ETF หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DWs) ที่อ้างอิงกับ SET50 Index เป็นต้น สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของดัชนีทั้งในแง่องค์ประกอบ การคำนวณ และเงื่อนไขในการคำนวณได้ที่ www.SET.or.th