'ปริญญ์' ดันเครือข่ายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

'ปริญญ์' ดันเครือข่ายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

'ปริญญ์' จับมือภาคีขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีต่อยอด หนุนคนไทยเข้าถึงธุรกิจลิขสิทธิ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าบริการ

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ จับมือภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ส่งเสริมนักออกแบบไทยให้สร้างผลงานคาแรคเตอร์ใหม่ และเข้าถึงธุรกิจด้านลิขสิทธิ์ได้ง่ายขึ้น

รวมถึงต่อยอดไปสู่ภาคการเกษตร นำคาแรคเตอร์ฝีมือคนไทยมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ผ่านงาน CHANGE 2021: Visual Character Art ที่ TCDC พร้อมลงพื้นที่เจริญกรุง พบปะประชาชน รับฟังปัญหาและเยี่ยมชมย่านตลาดน้อย ที่ได้นำสตรีทอาร์ต และสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ มาสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

161725953558

นายปริญญ์ เปิดเผยว่า เราต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในการนำเอาจุดเด่นของแต่ละคนมาทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

โดยงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่นำความคิดสร้างสรรค์ด้านคาแรคเตอร์ของนักออกแบบไทย และระบบทรัพย์สินทางปัญญา มาช่วยเพิ่มรายได้ให้สินค้าและการบริการไทย เพราะปัจจุบันที่เทคโนโลยีถาโถมเข้ามาอย่างไร้พรมแดน ได้ทำให้โลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการความเชื่อมั่นและสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรืออัตลักษณ์ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการค้าขายแบบเดิมอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ผู้ประกอบการควรต้องเร่งปรับตัวให้ทันโลก

สำหรับความโดดเด่นของประเทศไทย คือความเป็น 0.4 ที่ประกอบไปด้วยขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทดแทนได้ แต่การที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้นั้น จำเป็นต้องใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างคาแรคเตอร์มาช่วยต่อยอด

รวมทั้งคาแรคเตอร์หรือตัวการ์ตูนใหม่ที่หลายหน่วยงานกำลังสนับสนุนอยู่นี้ จะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น แตกต่าง สามารถดึงดูดผู้บริโภคจากนานาประเทศ และแข่งขันในระดับโลกได้ เพราะคาแรคเตอร์คือสิ่งที่ช่วยสะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่หลายประเทศได้นำคาแรคเตอร์มาเป็นจุดขายในหลายด้าน และประสบความสำเร็จ สร้างมูลค่าให้ชุมชนได้มหาศาล เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกา

161725960478

นอกจากนี้ นายปริญญ์ ลงพื้นที่ตลาดน้อย เพื่อเยี่ยมชมสตรีทอาร์ต หมู่บ้านเก่าแก่ และอาชีพดั้งเดิม อันเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชาวบ้านได้นำมาช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวชุมชน แม้จะอยู่ในยุควิกฤติโควิด-19 อาทิ แวร์เฮาส์ 30 แหล่งรวมงานศิลปะหลากหลายแขนง โบสถ์คาทอลิกกาลหว่าร์ บ้านโซวเฮ่งไถ่ สถาปัตยกรรมจีนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 250 ปี ศาลเจ้าโรงเกือก เยี่ยมเยือนบ้านทำเหล็ก-ทำค้อน หลังสุดท้ายของตลาดน้อย และสตรีทอาร์ทตลอดทางเดินในชุมชน โดยมีนางสาวรุ่งจันทร์ เฉลิมวิริยะ ประธานด้านการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้อยร่วมหารือ

นายปริญญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราได้ประโยชน์เต็มที่จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลา เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ และรู้จักนำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการทำธุรกิจในลักษณะของการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) เช่นบริษัท LocalAlike ที่มาช่วยพัฒนาชุมชนตลาดน้อย มองเป้าหมายที่มากกว่าตัวเอง เผื่อแผ่ประโยชน์ไปยังผู้อื่น เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรช่วยส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงบวก ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายและธุรกิจลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (Creative Licensing) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นคง

ติดตาม PRINN Check in รายการที่จะพาคนกรุงไปเจาะลึกทุกแง่มุมของเศรษฐกิจ ได้ทางช่องยูทูป PRINN Check in

https://youtube.com/c/PRINNCheckin