รัฐเล็งปรับกฎ“ท่องเที่ยว-ลงทุน” ดึงรายได้ชิงจังหวะเศรษฐกิจฟื้น

รัฐเล็งปรับกฎ“ท่องเที่ยว-ลงทุน” ดึงรายได้ชิงจังหวะเศรษฐกิจฟื้น

“สุพัฒนพงษ์” กางแผนสร้างรายได้ จากท่องเที่ยวกลุ่มมีรายได้สูง นายกฯสั่งทำแผนเข้า ศบศ.ภายใน1เดือน เน้นปรับกฎระเบียบ หวังคล่องตัวดันลงทุน 4 อุตฯหลักเพิ่ม ตั้งเป้าเศรษฐกิจโต4-5% ต่อเนื่อง “ธปท.”ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ห่วงจ้างงานเปราะบาง

เศรษฐกิจไทยและโลกกำลังบอบช้ำอย่างหนักจากโควิด-19 แต่หลังวัคซีนเริ่มแจกจ่ายในหลายประเทศรวมถึงไทย มีการประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในจังหวะการฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแผนการทำงานย่อมต้องปรับตัวตาม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ​เปิดเผยว่าได้นำเสนอแผนปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อชักจูงการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 และรองรับการท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาหลังสั่งการให้ทำรายละเอียดในส่วนต่างๆให้ชัดเจนและนำเข้ามาเสนอในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ.ภายใน 1 เดือน

สำหรับแผนประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคุณภาพสูงตั้งเป้ากลุ่มชาวต่างชาติที่เกษียณอายุซึ่งมีรายได้จากเงินบำเหน็จ-บำนาญมีกำลังในการใช้จ่ายประมาณเดือนละ 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งจากการทำสำรวจพบว่าทั่วโลกมีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 200 ล้านคน ไทยจะชักชวนให้คนกลุ่มนี้เข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุในประเทศให้ได้ 1 ล้านคนภายในปีนี้ 

ทั้งนี้  คาดหวังว่าจะเกิดการใช้จ่ายอย่างน้อยคนละประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน หรือคนละ 1.2 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ชดเชยภาคท่องเที่ยว และทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องรับนักท่องเที่ยวสูงถึงปีละ40 ล้านคนเหมือนที่ผ่านมา

โดยกลุ่มประเทศเป้าหมายได้แก่กลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในประเทศไทย และมีรายได้หลังเกษียณสูง เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวีย กลุ่มยุโรป และกลุ่มเอเชียตะวันออกได้แก่ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมทั้งออสเตรเลีย และนิวเซีแลนด์ ซึ่งจากการรับฟังความเห็นจากชาวต่างชาติพบว่าต้องการให้มีการปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมาย กฎระเบียบเช่นเรื่องของการรายงานตัว เรื่องของวีซ่า การตั้ง One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาอาศัยระยะยาวในประเทศไทย รวมไปถึงการปรับกฎระเบียบให้สามารถทำงานบางอย่างในประเทศไทยได้ หรือซื้อบ้านและขยายระยะเวลาถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ในเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศทำแล้วเช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น

“จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศในระดับต้นๆที่นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาเที่ยว และคนเกษียณที่มีฐานะดีต้องการเข้ามาอยู่ ซึ่งหากมีแผนที่ชัดเจนมีการดูแลอำนวยความสะดวกให้ตั้งแต่ต้นทาง และส่งเสริมให้เป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ ในการทำเรื่องนี้จะสามารถทำได้สำเร็จโดยอาจจะทำเป็นระยะทดลอง 3 - 5 ปี”

ดึง4อุตฯเป้าหมายดันรายได้ลงทุน

สำหรับแผนในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญและแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้มี 4 อุตสาหกรรมได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเรื่องของการดึงดูดการลงทุนจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของอุปสงค์ในประเทศให้สูงขึ้น

2.อุตสาหกรรมการแพทย์ จะต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยา และเครื่องมือทางการแพทย์ของภูมิภาค ซึ่งจะสร้างรายได้จากการลงทุนที่เกี่ยวข้องอีกมาก

3.อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตเดิมอยู่แล้วแต่ต้องชักจูงให้เกิดการลงทุนเพิ่มและจากบริษัทใหม่ๆที่จะเข้ามาลงทุนซึ่งขณะนี้มีการหารือกับนักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องของการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ของภูมิภาค ซึ่งจะสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องเช่นการพัฒนาแพลตฟอร์ม การสร้างสตาร์ทอัพต่อเนื่องจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

สำหรับในเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (National Headquater) ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ทำรายละเอียดเสร็จแล้วรอการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบีโอไอซึ่งมั่นใจว่าจะแข่งขันกับสิงคโปร์ได้อย่างแน่นอน

วางเป้าจีดีพีโต4-5%แบบยั่งยืน

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลต้องการเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 4 - 5% แบบมีเสถียรภาพเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายระยะสั้นโดยการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในประเทศในระยะยาวต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจซึ่งในการวางอนาคตสำหรับโลกหลังโควิด-19 ยังมีความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่ยังไม่จบ แต่รัฐบาลก็ต้องดูทิศทางและตัดสินใจไปข้างหน้าด้วย”

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยใหญ่ๆและในต่างประเทศ กล่าวว่า ในการคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยจะชักจูงการลงทุนได้มีการพิจารณาข้อมูลจากการประชุมหารือร่วมกับทูตและนักธุรกิจประเทศต่างๆ และใช้ข้อมูลจากที่ปรึกษาจากบริษัทแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) โดยเลือกจากอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและไทยมีความเชี่ยวชาญโดย 2 อุตสาหกรรมแรกคือรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนถึง 30% ของจีดีพี ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่คู่แข่งในอาเซียนแย่งชิงให้บริษัทชั้นนำเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาของไทยที่ต้องแก้ไขในลำดับแรกๆคือเรื่องของกฎระเบียบในเรื่องของการอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยและค่อยๆให้เขาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย

รัฐบาลยันไร้แผนขึ้นภาษี

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการเก็บภาษีเพิ่มว่ารัฐบาลยืนยันไม่ได้ถังแตก และไม่มีสัญญาณใด ๆ ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างนั้น โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้จัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 ถือเป็นเรื่องตามปกติ ซึ่งในรายงานจะบอกถึงความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรไม่มีสาระสำคัญอะไรที่น่าห่วง

ส่วนกรณีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจกลับไปจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 10%ตามกฎหมายนั้น ยืนยันว่า จะไม่มีการปรับขึ้นภาษีVATในเร็ว ๆ นี้แน่นอนและยังจัดเก็บในอัตรา 7% ต่อไป

ธปท.ชี้เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.ปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ประเมินว่าเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวแล้ว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีความเปราะบางด้านตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น หลังเห็นตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในก.พ. มาอยู่ที่ 89,380 คน หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ การขอสวัสดิการว่างงานใหม่อยู่ที่ 71,592 คน ดังนั้นต้องจับตาใกล้ชิดต่อไป เพราะการขอสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนความไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจ

“เราเชื่อว่า มาตรการรัฐ ที่ออกมาในระยะนี้ ทั้ง เราชนะ คนละครึ่ง ม.33 มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจมาก ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะเห็นผลบวกตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ ถึงไตรมาส 2 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนุนให้เกิดการใช้จ่าย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เพราะดูจากการใช้จ่าย การขายสินค้าร้านโชห่วยๆต่างๆ"

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา คาดการณ์ว่า จะเห็นการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ ติดลบ หากเทียบกับทั้งไตรมาสเดียวกันปีก่อน และช่วงไตรมาสก่อนหน้า

ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับมาพลิกตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 2ปีนี้ จากปีก่อนที่ไตรมาส2 ติดลบแรง จากผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งไตรมาส อีกทั้งน่าจะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจนถึงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จากการเริ่มกลับมาทยอยเปิดประเทศ ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้