'แรงงานนอกระบบ' ความท้าทายยุคโควิด-19

'แรงงานนอกระบบ' ความท้าทายยุคโควิด-19

เปิดบทวิเคราะห์ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 "แรงงานนอกระบบ" ที่ต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมนั้น ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน กลุ่มไหนได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีการปรับตัวอย่างไร?

จากบทความอัพสกิล & รีสกิลฉบับก่อน : ความท้าทายในการพัฒนาปรับทักษะให้แก่พี่น้องแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวนผู้มีงานทำทั้งประเทศราว 38 ล้านคน แรงงานกลุ่มนี้สำคัญยิ่งต่อการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจและสังคมไทย บทความนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “กลุ่มแรงงานนอกระบบ” พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงผลกระทบและการปรับตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แรงงานนอกระบบตามนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หมายถึง “ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน” หรือกล่าวได้ว่าเป็น “ผู้ที่ทำงานส่วนตัวโดยจะมีลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ หรือลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐ” แรงงานนอกระบบของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตร (11 ล้านคน) และที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานนอกภาคเกษตร (9 ล้านคน)

แรงงานนอกระบบส่วนมากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ทำอาชีพค้าปลีกและบริการด้านอาหาร อาทิ พ่อค้าแม่ค้าตามร้านขายของชำ ร้านค้าออนไลน์ หาบเร่แผงลอย และพนักงานบริการในร้านอาหาร ซึ่งคนกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 60 อายุมากกว่า 40 ปี และมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งใช้เพียงทักษะขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ จึงทำให้การปรับเปลี่ยนอาชีพทำได้อย่างจำกัด

แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งจาก (1) รายได้น้อยและไม่แน่นอน แรงงานลูกจ้างนอกระบบมีรายได้เฉลี่ย 6,586 บาทต่อเดือน ต่ำกว่ารายได้ของแรงงานลูกจ้างในระบบถึงกว่าเท่าตัว (15,502 บาทต่อเดือน)

(2) ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองครอบคลุมในหลายกรณีซึ่งผู้อยู่ในระบบประกันสังคมหรือพนักงานของรัฐได้รับ เช่น ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เงินสงเคราะห์บุตร เงินบำนาญชราภาพ และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพหรือว่างงาน 

และ (3) การออมเงินน้อยและปัญหาหนี้สิน หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาทิ การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาถูกกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่น เนื่องจากขาดตัวช่วยในการพยุงรายได้หรือลดภาระค่าใช้จ่าย

การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ได้ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบที่ทำงานนอกภาคเกษตรที่กำลังฟื้นตัวให้ปรับแย่ลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของรายได้ที่ลดลงมากต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ และขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้โดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงปกติก่อนการแพร่ระบาด 

หากแยกเป็นประเภทธุรกิจพบว่า กลุ่มธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น ส่งผลให้โดยเฉลี่ยรายได้หายไปเกือบทั้งหมด เช่น ร้านค้าในตลาดนัดที่ลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่ปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากเปิดแล้วไม่คุ้มทุน เหลือเพียงส่วนน้อยที่ยังพอขายได้ เช่นเดียวกับธุรกิจนวดสปาในพื้นที่ท่องเที่ยว ทำให้เจ้าของร้านนวดหรือพนักงานบริการนวดราว 1 ใน 3 พิจารณาเลิกกิจการหรือเลิกทำอาชีพนี้

ธุรกิจขนส่งและการค้ารายย่อย ที่มีรายได้หลักขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของคนในประเทศ ได้รับผลกระทบรองลงมา ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ โดยผู้ขับแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเฉลี่ยมีรายได้เหลือเพียงร้อยละ 10-40 จากการที่ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ ขณะที่บางกลุ่มหันมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเพียงพอผ่อนค่ารถได้ไม่เกิน 2 เดือน และมีแนวโน้มที่จะโดนยึดรถ ด้านพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินนอกระบบ โดยเฉลี่ยมีรายได้ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง จากการลดกิจกรรมออกนอกบ้านและความกังวลเกี่ยวกับความสะอาดของอาหาร 

ทั้งนี้ มีแรงงานเพียงบางส่วนที่สามารถปรับตัวได้จากการหารายได้เสริม เช่น ขายของออนไลน์ บริการ ขนส่งผ่านแอพพลิเคชั่น ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวยาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอายุมากกว่า 40 ปี ที่ไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งระบบค้าขายออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ รวมไปถึงขาดเครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อมในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จึงเลือกปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายโดยเดินทางกลับภูมิลำเนาแทน

แรงงานนอกระบบในภาคเกษตรแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มอื่น แต่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมและปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของเกษตรกรไม่แพ้กัน การเร่งวางรากฐานนโยบายการปรับตัวเชิงโครงสร้างโดยต่อยอดเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งการเสริมศักยภาพให้แก่แรงงานภาคเกษตร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น และวิกฤติอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในวันข้างหน้า

เมื่อต้องเผชิญกับภาวะที่รายได้ที่ลดลงไปอย่างมากและรวดเร็ว อีกทั้งการปรับตัวก็ทำได้ยาก ทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานของนอกระบบมีความเปราะบางมากขึ้น แม้ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือแต่ก็เป็นเพียงการเยียวยาระยะสั้น ไม่ได้ช่วยให้ความเปราะบางลดลงได้มากนัก และในอีกมุมหนึ่ง มาตรการระยะสั้นเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคที่หน่วงรั้งการปรับตัวของแรงงาน เพราะอาจทำให้คาดหวังว่าภาครัฐจะออกมาตรการลักษณะนี้มาช่วยเหลือเพิ่มเติม 

หากเราต้องการสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว แรงงานจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและปรับตัวทั้งในด้านการทำงานและดำรงชีวิต เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ในขณะที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจ อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานหรือติดอาวุธให้แรงงานนอกระบบทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรให้แข็งแรงพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วยตนเอ

ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย/มาตรการระยะยาวดังกล่าวผู้เขียนจะขอเชิญชวนผู้อ่านคิดไปพร้อมๆ กันในฉบับถัดไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย