'ไฟป่า' เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ 'หมอกควัน' และ 'PM2.5'

'ไฟป่า' เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ 'หมอกควัน' และ 'PM2.5'

เข้าใจ "ไฟป่า" ที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา "หมอกควัน" และฝุ่น "PM2.5" มากกว่าที่เราคิด จากสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ที่กำลังสะเทือนโซเชียลอยู่ในขณะนี้

ภาพสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่บ้านศาลา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จากที่มีการโพสต์ภาพจากเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าขุนขาน-สะเมิง สบอ.16 ชุดเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ และชุดอาสาดับไฟของหมู่บ้านได้กลายเป็นหนึ่งในกระแสที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่การแสดงความเห็นต่างๆ มากมายทั้งเรื่องการจัดการ ปัญหาหมอกควัน หรือแม้แต่เรื่องของสถานการฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5

ถึงจะมีรายงานข่าวในช่วงเช้าวันที่ 30 มีนาคม 2564 ว่า เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่าจากสถานีดับไฟป่าสะเมิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ ได้บูรณาการ​การทำงาน เร่งดับไฟป่าในพื้นที่ จนในขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้แล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ป่านั้นก็มีตามมาโดยเฉพาะสภาพอากาศที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดย เว็บไซต์ Air visual เว็บไซต์ตรวจสอบสภาพอากาศได้จัดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกพบว่า จังหวัดเชียงใหม่ วันนี้อยู่ในอันดับ 3 ของโลกดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 175 US AQI ส่วนพื้นที่อำเภอใกล้เคียงกับ อ.สะเมิง

ขณะที่ เว็ปไซต์ Air cmi ก็พบว่ามีหลายอำเภอที่ได้รับผลกระมบจาก PM2.5 จากการเผ่าป่า โดยเฉพาะที่ อำเภอสะเมิง วัดค่าPM2.5 ได้ 125 ไมรโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 187 Aqi

  • ไฟป่าเกิดจากอะไร

ไฟป่าเชียงใหม่ และไฟป่าในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะนี้นั้น ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเข้าสู่วิกฤติไฟป่าที่เวียนมาในผืนป่าทางภาคเหนือทุกปี ไฟป่าเกิดจากอะไร มักเป็นคำถามที่เกิดขึ้นตามมาเสมอเมื่อข่าสารเกี่ยวกับความเสียหายในผืนป่าธรรมชาติเริ่มปรากฏในพื้นที่สื่ออีกครั้ง

คำอธิบายเกี่ยวกับไฟป่าจาก ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หมายถึง ไฟที่เกิดขึ้นและลุกลามไปได้โดยอิสระ ปราศจากการควบคุม แล้วเผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติในป่า โดยมี 2 สาเหตุหลักในการเกิดไฟป่า คือ จาก ธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ ซึ่งจากรายงานการเก็บสถิติไฟป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 – 2542 มีสถิติไฟป่าทั้งสิ้น 73,630 ครั้ง พบว่า มีไฟป่าที่เกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น

ไฟป่า หมอดควัน และ PM2.5

สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่บ้านศาลา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ 30 มีนาคม 2564 ขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้แล้ว

  • ไฟป่าที่มีสาเหตุจากคนเรานั้นสามารถแยกออกเป็น 3 ลักษณะสำคัญ คือ

1. หาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า

2. เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ทั้งนี้โดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

3. แกล้งจุด ทั้งในแง่ของความคึกคะนอง และในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกิน หรือข้อกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้

ไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5

  • ไฟป่า หรือ ฤดูไฟป่า เกิดช่วงไหน และพื้นที่ใด

สาเหตุไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มักเกิดขึ้นบริเวณทางตอนบนของประเทศ เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเกิดในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธถึงต้นเดือนพฤษภาคม สําหรับภาคใต้มักได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย สาเหตุของการเกิดไฟป่าจะขึ้นกับสภาพอากาศและสสารที่เป็นเชื้อเพลิงโดยรอบพื้นที่นั้นๆ เป็นสําคัญ

สำหรับ ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือนั้น สภาพพื้นที่ และวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. ระบุถึงสาเหตุที่ภาคเหนือต้องประสบปัญหาไฟป่าทุกปีเอาไว้ว่า ด้วยภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ

ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ ลักษณะของป่าแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่า การพัดพาของลมจะทำให้ไฟลุกติดได้ง่ายและไกลขึ้น และด้วยสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท ยิ่งทำให้ฝุ่นควันมีเพิ่มมากขึ้น

ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่สูงในภาคเหนือส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่ หรือพืชบางชนิดอาจต้องใช้ไฟเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตหรือผลัดเปลี่ยน เช่น ช่วยให้ผักหวานแตกยอดหรือเห็ดเผาะเมื่อมีต้นไม้และหญ้าขึ้นคลุมผิวดินมากๆ จะไม่สามารถขึ้นได้และยากต่อการหา จึงทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อเผาป่าจะหาของป่าได้ง่ายขึ้น ปัญหานี้จึงอยู่คู่กับภาคเหนือมาตลอด บางครั้งไฟป่าอาจเกิดขึ้นเอง หรือจากน้ำมือมนุษย์ เพียงแค่ไฟเพียงจุดเดียว สามารถลุกลามไปเป็นหลายร้อยไร่ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

  • ไฟป่า กับปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากตัวเลขค่ามลภาวะทางอากาศทั้งจากปัญหาหมอกควัน และค่าฝุ่น PM2.5 นั้นแปรผันตามกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ที่พื้นที่ สะเมิงในวันที่ 30 มีนาคม 2564 กับรายงานจุดความร้อน จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA พบว่า มีความเชื่อมโยงกัน คือ พื้นที่จุดความร้อนที่พบนั้นจะประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่เกษตรกร ป่าอนุรักษ์ เขต สปก. ชุมชน และอื่นๆ เป็นต้น

หรือ จากคำบอกเล่าของ เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านม้งดอยปุย ถึงเหตุการณ์ไฟป่าบริเวณดอยปุยของ จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2563 เล่าว่า ไฟป่าไม่ได้เกิดจากการจุดใหม่ทุกครั้ง บางครั้งเกิดจากแนวไฟเดิม ธรรมชาติของไฟในป่าดิบ มันเดินทางได้เอง เมื่อมีปัจจัยพร้อม ทั้งมีปริมาณเชื้อเพลิงจำนวนมาก อากาศร้อน แล้ง รวมกับการบริหารจัดการไม่ดีพอ ไม่ต้องมีคนจุดใหม่ ไฟพร้อมจะลามเลียผิวดิน ไต่ขึ้นเรือนยอด มุดลงดินกินซากพืช และพร้อมจะปะทุใหม่ได้ตลอดเวลา ทำให้ปีนี้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และมีค่าฝุ่นสูงสุดในรอบหลายปี 

เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) มีค่า AQI สูงถึง 329 และค่า PM 2.5 อยู่ที่ 279 µg/m3

  • ไฟป่า และปัญหาโลกร้อน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้กลายมาเป็นอีกวาระสำคัญที่ทั่วโลกพยายามกระตุ้นความตื่นรู้เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืน รายงาน WWF & Boston Consulting Group: Fires, Forests, and the Future (2020) ถอดความโดย พลาย ภิรมย์ WWW - Thailand ระบุว่า ไฟป่า หมอกควัน และภัยแล้ง ล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าแล้งของทุกปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตลอดช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกๆ นาที โดยเฉลี่ย มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลได้ถูกโค่นทำลายไป สิ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นภาวะโลกร้อนให้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น อย่างทุกวันนี้ ความร้อนของอุณหภูมิในอากาศของประเทศไทยนั้น ในความรู้สึกของหลายๆ คนก็ร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หากปลูกต้นไม้เพิ่มประมาณ 1.2 พันล้านล้านต้นทั่วโลกก็จะสามารถบรรเทาวิกฤตโลกร้อนได้ คือจำนวนคาดการณ์ที่ปรากฏเป็นตัวเลขในรายงานดังกล่าว ซึ่งในหลายประเทศก็มีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เท่ากับอัตราการทำลายป่าที่ทำให้สถาการณ์ในภาพรวมของป่าทั่วโลกลดลงทุกปี ซึ่ง ไฟป่า ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้

เมื่อปี 2020 เหตุการณ์ไฟป่าได้เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ป่าอเมซอน (Amazon) จนถึงขั่วโลกเหนือ หรืออาร์กติก (Arctic) ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และในเดือนเมษายน ได้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ ป่าเขตร้อน ซึ่งรวมถึงป่าที่เกิดไฟป่าในประเทศไทยนั้น คิดเป็นเพียง 7% ของพื้นที่ไฟป่าทั้งหมด แต่น่าสนใจว่า หากดูอัตราการปลดปล่อยคาร์บอนแล้ว ไฟไหม้ในป่าเขตร้อนกลับปล่อยคาร์บอนถึงร้อยละ 38%

ไม่เพียงเท่านั้น ความถี่และความรุนแรงของไฟป่าทั่วโลกนั้น ได้กลายเป็นภัยคุกคามหลักต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียในช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตสัตว์ป่ามากถึง 3 พันล้านตัว

จนถึงตอนนี้ เราคงต้องไม่ลืมว่า การบรรลุข้อตกลงปารีส โดยทุกประเทศ ทุกภาคส่วน ร่วมกันแสดงเจตจำนงค์และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

ดังนั้น เรื่องของไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นPM2.5 จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน