เอาให้ชัด! สรุปไทม์ไลน์-เงื่อนไข ‘เปิดประเทศ’ รับต่างชาติเที่ยวไทย

เอาให้ชัด! สรุปไทม์ไลน์-เงื่อนไข ‘เปิดประเทศ’  รับต่างชาติเที่ยวไทย

หลายคนอาจจะยังสับสนว่าตกลงแล้ว “ไทม์ไลน์การเปิดประเทศ” รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขแผนการเปิดประเทศรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะดีเดย์ระยะ (เฟส) ที่ 1 เริ่มวันที่ 1 เม.ย.2564 แต่ละเฟสมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

เพราะที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวมากมายทั้งเรื่องข้อสรุปและข้อเสนอหรือแนวคิดต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียดจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 มี.ค.2564 ดังนี้

 

  • เฟสที่ 1 เริ่ม 1 เม.ย.2564 เงื่อนไขมีอะไรบ้าง

ก่อนหน้านี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในวันที่ 1 เม.ย.นี้จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้ แต่ต้องเข้าพักโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ “แอเรีย ควอรันทีน” (Area Quarantine) และผ่านหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยยังกำหนดให้กักตัวอยู่ แต่ลดจำนวนวันกักตัวลง หากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะต้องกักตัว 7 วัน ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้องกักตัว 10 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงสูงจะต้องกักตัว 14 วัน

“แต่เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งประกาศไทม์ไลน์การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและเงื่อนไขออกไป จึงคาดว่ากว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามา น่าจะเป็นในช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป เพราะต้องใช้เวลาเตรียมตัวในการเดินทาง”

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แนวทางทดลองทยอยลดจำนวนวันกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วภายในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอเรียควอรันทีนหรือพื้นที่กำหนดในเมืองท่องเที่ยวสำคัญเหลือ 7 วัน เบื้องต้นจะเริ่มนำร่องใน 5 พื้นที่ เริ่มจาก จ.ภูเก็ต ก่อนในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้แก่ เกาะสมุย กระบี่ พังงา เมืองพัทยา และเชียงใหม่ ต้องจัดทำแผนความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวมาเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) พิจารณาเพิ่มเติม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัล ฮับ) ครั้งที่ 1/2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. เป็นประธานร่วมการประชุมฯ

นายสาธิต รมช.สธ. กล่าวว่า บอร์ดเมดิคัลฮับได้มีมติเห็นชอบปรับรูปแบบสถานกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และการผ่อนคลายกิจกรรมในสถานกักกันตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนด เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ทั้งสถานกักกันทางเลือก (Alternative Quarantine) ที่ให้ผู้กักตัวสามารถใช้ห้องฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง ใช้สระว่ายน้ำ ปั่นจักรยานในพื้นที่ปิด และสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพที่ให้มีกิจกรรมในห้องจัดกิจกรรม ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในที่พัก การประชุมทางธุรกิจ การจัดงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ หรือประกวดนางงาม เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำหลักเกณฑ์และข้อกำหนดกลางมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานรองรับต่อไป

  161699122765

  • เฟสที่ 2 เริ่ม 1 ก.ค.2564 เงื่อนไขมีอะไรบ้าง

โมเดล “แซนด์บ็อกซ์” ถูกหยิบยกเป็นประเด็นเมื่อราววันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบจับคู่เที่ยวระหว่างประเทศหรือ “ทราเวล บับเบิล” ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ลักษณะเมืองต่อเมือง หรือเกาะต่อเกาะ

โดยในวันดังกล่าว นายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯได้หารือร่วมกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน 3 จังหวัดทะเลอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เกี่ยวกับโมเดลนี้ เนื่องจากทั้งสามจังหวัดพึ่งพิงรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งยังสร้างรายได้รวมกันมากถึง 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2562 ก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 ซึ่งปิดตัวเลขรายได้รวมที่ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากภูเก็ต 4.7 แสนล้านบาท กระบี่ 1 แสนกว่าล้านบาท และพังงาอีก 4.5 หมื่นล้านบาท

นอกเหนือจากเมืองท่องเที่ยว 3 จังหวัดฝั่งอันดามันแล้ว ทางนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ยังกล่าวถึงเมืองอื่นๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมโมเดลแซนด์บ็อกซ์ด้วย เช่น เมืองพัทยา และพื้นที่ 3 เกาะใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

กระทั่งวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดเมดิคัลฮับได้เห็นชอบหลักการรูปแบบการท่องเที่ยวภายใต้โมเดล “แซนด์บ็อกซ์” ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ จ.ภูเก็ต, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และเชียงคาน จ.เลย ภายใต้เงื่อนไขการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวภายในพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) จากการทำประชาพิจารณ์ นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว มีมาตรการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ มีระบบติดตามตัว และมีความพร้อมด้านสาธารณสุข

และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วของ จ.ภูเก็ต ตามข้อเสนอของ ททท.ที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ได้รับการยอมรับแล้วและมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตโดยตรงผ่านเครื่องบิน และสามารถท่องเที่ยวในภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.2564

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการ “ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์” กุญแจสำคัญของโครงการนี้มี 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนภูเก็ตก่อน 2.ยกเลิกการกักตัว (No Quarantine) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และ 3.ใช้กลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้แก่ภาคท่องเที่ยวโลก ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ และสร้างความรู้สึกที่ดีแก่คนในพื้นที่

สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนแก่ประชากรในภูเก็ตอยู่ที่ 466,587 คน หรือใช้วัคซีน 933,174 โดส คิดเป็นเกือบ 95% ของจำนวนประชากรภูเก็ตและแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว 493,137 คน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 70% ที่ตั้งไว้ โดยศูนย์กระจายวัคซีนมี 9 แห่งทั่วภูเก็ต ใช้ทีมแพทย์ 20 ทีม คิดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 400 คน ตั้งเป้าฉีดวัคซีนโดสแรกที่จะฉีดให้คนภูเก็ตเริ่มวันที่ 15 เม.ย.นี้ ส่วนโดสที่ 2 เริ่มฉีดวันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนยังได้ร่วมวางโมเดล 3T ได้แก่ 1.Targeted Countries กำหนดประเทศเป้าหมาย โดยในช่วงระยะทดลอง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.2564 เตรียมดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศจีน สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และรัสเซีย ส่วนในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศเข้าไทยแบบไม่ต้องกักตัว เช่น จากประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามยังอยู่บนเงื่อนไขสำคัญว่า ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการกักตัว แต่ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องเข้ากักตัว 7 วัน

2.Testing การตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการเดินทางจากประเทศต้นทาง โดยต้องมีเอกสารรับรองว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (Vaccine Certification), พาสปอร์ตวัคซีน, IATA Travel Pass ซึ่งเป็นพาสปอร์ตดิจิทัลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ พอเดินทางมาถึงประเทศไทย ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อแบบ PCR Full Test ที่สนามบิน และ 3.Tracing Application กำหนดให้นักท่องเที่ยวใช้แอปพลิเคชั่นไทยแลนด์พลัส (ThailandPlus) ติดตามตัว

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าโครงการภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์ จะช่วยสร้างรายได้ท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 84,290 ล้านบาทแก่เศรษฐกิจภูเก็ต สูงกว่ารายได้ตามแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวเข้าภูเก็ตในเดือน ต.ค.นี้ตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ท่องเที่ยว 54,967 ล้านบาท

หากโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่นำร่องในพื้นที่เป้าหมายประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยการันตีความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย ปูทางสู่การเปิดประเทศในเฟสที่ 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัวต่อไป!

  161699122769

  • เฟสที่ 3 เริ่ม 1 ต.ค.2564 เงื่อนไขมีอะไรบ้าง

รัฐบาลไทยประกาศชัดตั้งแต่แรกแล้วว่าไทม์ไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้แบบ “ไม่ต้องกักตัว” (No Quarantine) แต่จะมีการใช้มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น Vaccine Certificate และระบบติดตามตัว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปได้ในทุกพื้นที่ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง และบุคลากรทางการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมายที่กำหนดแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลจะพิจารณาผ่อนคลายยกเลิกการออกใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) แก่ชาวต่างชาติบางประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา 8 องค์กรหลักด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทย นำโดย นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรมแรมไทย ได้เข้าพบนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้เสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนและแผนการเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ..เป็นต้นไปแทน! หรือเร็วขึ้น 3 เดือน เพื่อต่อลมหายใจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 1 ปี!

161693046440

โดยทั้ง 6 ข้อ มีดังนี้ 1.ตั้งแต่วันที่ 1 ..นี้เป็นต้นไป ให้เปิดรับต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าพื้นที่นำร่องภูเก็ตและสมุยโดยไม่ต้องกักตัว 2.เร่งรัดการจัดหาวัคซีนอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรในพื้นที่นำร่อง เช่น ภูเก็ต และสมุย ภายในวันที่ 15 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้ 3.พิจารณาให้เอกชนสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างเร่งด่วน

4.เร่งจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรภาคท่องเที่ยวและบริการเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศภายในเดือน มิ.ย.2564 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว 5.ประกาศกรอบเวลาและเงื่อนไขที่ชัดเจนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างน้อยในพื้นที่นำร่อง และ 6.พิจารณาอนุมัติใช้ IATA Travel Pass ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว สายการบิน และภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรับรองผลตรวจหรือใบรับรองการรับวัคซีนโควิด-19

สำหรับ 8 องค์กรดังกล่าว ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมโรงแรมไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า), สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ, สมาคมสายการบินประเทศไทย, สมาคมสปาไทย และ สมาคมธุรกิจสายการบินประเทศไทย

161693178793

นายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากรับหนังสือจากผู้ประกอบการทั้ง 8 องค์กรว่า ตามไทม์ไลน์ที่มีการแถลงข่าวโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าในวันที่ 1 ต.ค.2564 สามารถให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้สามารถเลื่อนเวลาให้เร็วขึ้น แต่การเลื่อนเวลาให้เร็วขึ้นสำหรับคนที่ได้รับวัคซีน 2 ครั้ง จะใช้ในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ (Sand Box) ตามที่มีการหารือกันระหว่าง ศบค., สธ. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมทั้งสมาคมโรงแรมและชาวภูเก็ต เบื้องต้นจะใช้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องทำแซนด์บ็อกซ์

“โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เสนอขอวัคซีนไปยัง สธ.จำนวน  925,000 โดส เพื่อไปฉีดให้กับประชาชนชาวภูเก็ต ได้ 70 % โดยจะได้รับวัคซีนในช่วงเดือน มี.ค., เม.ย. และ พ.ค.นี้ ทั้งนี้หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน จะมีการรอระยะเวลา 14 วัน เพื่อให้มีการสร้างภูมิคุ้มกัน และจะเข้ามาในเงื่อนไขว่าในวันที่ 1 ก.ค.2564 เราสามารถให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 ครั้ง เข้ามาในจังหวัดภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว โดยสัปดาห์แรกขอให้ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและหากไม่มีอาการ นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้”